สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   

“คนจนผู้ยิ่งใหญ่” ตัวตนที่แท้จริง ของสืบ …บุญส่ง นาคภู่

  ณัฎฐ์ธร กังวาลไกล / 10 มิถุนายน 2553 (ส่วนที่เป็นสีขาวทั้งหมด เขียนโดย อัญชลี ชัยวรพร )
  LINK : โปสเตอร์ ภาพนิ่งและข้อมูลหนัง
   
 

อย่ามองเขาจากท่าทีที่เขาแสดงออก  อย่ามองเขาจากบทบาทที่เคยรับ  อย่ามองแต่สิ่งที่อยู่ภายนอก  เพราะถ้าคุณมีโอกาสได้รู้จักถึง “เนื้อใน” ของเขา …..บุญส่ง นาคภู่ หรือ สืบ เขาคือ คนที่ “ซื่อสัตย์” ที่สุดในวงการหนัง  ….ไม่โกหก  ไม่หลอกลวง  ไม่สร้างภาพ  สิ่งที่หาได้ยากในวงการมายา  แต่หาได้ง่ายจาก “คนบ้านนอก”  เพียงแต่ สืบ เป็นคนบ้านนอกที่กล้าแสดงออกถึงความคิดเห็นของตน  …ด้วยความซื่อสัตย์

สืบ อยู่ในวงการหนังสิบกว่าปี  กับภาพที่คนทั่วไปคงเตรียมด่าไว้ก่อน  ปากกล้า พูดตรง ๆ   แต่ถ้าคุณได้รู้จักตัวตนที่แท้จริงของเขา  คุณจะเข้าใจถึงที่มาของการแสดงออกเหล่านั้น  อาจจะเป็นเพราะการกดขี่ที่เขาเผชิญมาตลอดชีวิตในฐานะลูกชาวนา  ความไม่เท่าเทียมกันในระบบการศึกษา  และยิ่งมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ในวงการหนัง  โดยเฉพาะกับความจริงที่ว่า เขาเป็นเพียงเด็กบ้านนอก

 

 

สืบเป็นลูกชาวนา  มีพี่ 7 คน  เขาเป็นลูกคนเล็ก  มีเพียงเขาและพี่ชายคนที่ 7 เท่านั้นที่มีอาชีพที่มีเกียรติ  มีหน้ามีตาในสังคม  (พี่ชายเป็นตำรวจ)  พี่ชายขวนขวายเรียนหนังสือด้วยตัวเอง โดยบวชเป็นพระ    ก็เลยชวนน้องชายคนเล็กไปบวชด้วย  จนสืบได้ขั้นเปรียญ 4 เป็นนักธรรมเอก  และใช้ภาษาบาลีสันสกฤตนั่นแหล่ะ  สอบเข้าเรียนคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ปัจจุบันพ่อแม่และพี่ ๆ ส่วนใหญ่ก็ยังคำดำรงชีพด้วยการทำนา   ซึ่งเขาก็แวะเวียนกลับไปหาทุกเดือน

หลังจากจบมหาวิทยาลัยแล้ว  สืบพยายามทำหนังมาตลอด  ตั้งแต่ยุคกล้องดิจิตัลยังไม่พัฒนา  เพราะฉะนั้นมันมีทางเลือกเดียวที่เขาจะทำได้  ก็คือถ่ายด้วยฟิลม์ 16 มม. ผลก็คือภาพยนตร์สั้นเรื่องแรกของเขาก็เลยเบลออย่างเดียว   เพราะคนบ้านนอกอย่างเขาย่อมจะถูกบริษัทให้เช่ากล้องหลอกได้ง่าย   เขาจึงตัดสินใจเข้าวงการหนังเพื่อทำหนัง  ต่อรองจนได้ทำหนัง “191 ครึ่ง  มือปราบทราบแล้วป่วน” กับ “ปอบ” หนึ่งในหนังสั้นสี่เรื่องของ “หลอน” ให้กับค่ายซีเอ็มฟิล์ม (ที่ปิดตัวไปแล้ว)

หลังจากนั้น ชื่อของบุญส่ง นาคภู่ก็หายไปจากการทำหนังในกระแส เขาเคยมีโครงการจะสร้างภาพยนตร์กับบาแรมยู แต่ด้วยปัญหาบางอย่าง  ก็ทำให้โครงการนั้นไม่ได้เกิดขึ้นมา   และเจ็ดปี หลังจากที่ทำหนังเรื่องล่าสุด  บุญส่งก็ใช้เวลาไปกับการทำหลายอย่าง  เป็นนักวิจารณ์ภาพยนตร์  สอนหนังสือตามมหาวิทยาลัย  เป็นวิทยากรในค่ายอบรมหนังสั้นต่างๆ  รวมถึงเป็นแอคติ้งโค้ชบ้าง  เป็นตัวประกอบบ้าง  ให้กับหนังใหญ่หลาย ๆ เรื่อง  รวมทั้งละครเวทีอยู่บ้าง  เขาก่อตั้งกลุ่ม “ปลาเป็นว่ายทวนน้ำ” ที่เป็นจุดกำเนิดของผลงานสารคดีสั้นของอุรุพงษ์ รักษาสัตย์  ทำหนังสั้นสองสามเรื่อง จนเมื่อสามปีก่อน เขาทำหนังดิจิตอลขนาดยาวเรื่องหนึ่งที่นำเอานักศึกษาวิชาการแสดงของ ม.กรุงเทพ ที่เขาสอนอยู่มาร่วมแสดง  แต่ผลงานเรื่องดังกล่าวออกฉายในวงแคบๆ  ด้วยคุณภาพที่ต่ำ ทำให้ปราศจากซึ่งเสียงตอบรับใดๆ  

เขาใช้เวลาอีกพักใหญ่ค้นคว้าหาสิ่งที่ตัวเองต้องการเล่า  จนล่าสุด บุญส่งได้ดิ้นรนที่จะลองทำตามความฝัน ด้วยวิธีการที่คิดว่าเหมาะสมแก่ตัวเขา เขาตัดสินใจยืมเงินภรรยาก้อนหนึ่งในระดับหลักแสน เพื่อเป็นทุนในการสร้างภาพยนตร์เรื่องใหม่  “คนจนผู้ยิ่งใหญ่”

 

 

หนังเล่าถึงเรื่องราวของคนตัวเล็กๆ ในบ้านเกิดของบุญส่งเอง เป็นประสบการณ์ชีวิตของญาติพี่น้อง ลุง ป้า น้า อา ที่เขาได้พบเห็น  เป็นชีวิตของชาวนาในการต่อสู้ต่ออุปสรรคต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต  ท่ามกลางความรักและความหวังภายในตัวเองและคนรอบข้าง  เป็นการเล่าเรื่องที่บุญส่งเห็นว่าไม่อาจจะทำได้ในหนังไทยกระแสหลัก  “เรื่องมาจากสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังมาตลอด  จากพ่อแม่พี่น้อง  สิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญมาตลอดหลายสิบปีนับตั้งแต่เมื่อเราจากบ้านเกิดมา  มันกลายเป็นเชื้อที่เราต้องลุกขึ้นมาเล่า เล่าเพื่ออะไร? เล่าเพื่อให้พ่อแม่พี่น้องได้มีพื้นที่  เราเพื่อให้คนเข้าใจเขาบ้าง คือ มันมีช่องว่างระหว่างคนชนชั้นกลางกับคนชั้นนอก ใช่ไหม   บนจอภาพยนตร์ ในโรงหนัง หรือในทีวีไม่ยอมให้มีเรื่องของคนพวกนี้   มีแต่เรื่องแต่งประโลมโลกที่คนเล่าไม่เข้าใจเรื่องราวจริง ๆ  ในฐานะที่เราเป็นลูกชาวนา   เราก็แลยลองเล่า   เอาเรื่องจริงมาขยี้ มาขับเน้น มาปรุงแต่งให้มันสะเทือนอารมณ์  แต่จะมีส่วนที่เป็นเรื่องจริง 70 เปอร์เซ็นต์เลยนะ ที่เหลือคือการขยี้อย่างที่ว่าไป”

 

 

การถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้วิธีการที่ดิบมาก คือมีทีมงานประมาณ 10 คน และใช้เวลาในการถ่ายทำ 10 วัน และเลือกที่จะถ่ายเพียงไม่กี่ซีนไม่กี่คัตในแต่ล่ะวัน  มีการเซ็ตฉากในระดับน้อย และไม่มีการจัดไฟ โดยการเล่าเรื่องเป็นการผสมผสานระหว่างการเขียนบทคร่าวๆ และการด้นสดหน้ากอง  ซึ่งเหล่านักแสดงก็ปราศจากมืออาชีพโดยสิ้นเชิง ล้วนแต่เป็นคนในหมู่บ้านของผู้กำกับทั้งสิ้น ทั้งนี้ก็เป็นไปตามความต้องการของผู้กำกับ ที่ต้องการจะสะท้อนความจริงที่เกิดขึ้นให้เที่ยงตรงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้  “วิธีการทำหนังเรื่องนี้คือ เตรียม 50 เปอร์เซ็นต์ แล้วที่เหลือคือการด้นสด ที่ว่าเตรียมก็คือ จะถ่ายกี่ฉาก ใครเล่นบ้าง ก็ไปติดต่อทาบทามเขาไว้ เขาไม่เคยเล่นเลย ก็ไปเล่นกันสดๆ ตรงนั้น นักแสดงที่เราใช้ชาวบ้าน ก็เพื่อประหยัดงบ เพื่อการควบคุมง่าย เพื่อให้เกิดภาพที่ไม่ค่อยเห็นในหนังไทย  หลังจากเรื่อง “ทองปาน”  ไม่เคยมีการเอาชาวบ้านจริงๆ มาเล่น หน้าดำๆ ที่ไม่เคยเล่นหนัง ไม่รู้จักไม่เคยเรียนแอ็คติ้ง ดูแต่ละครทีวี มาเล่นหนังในแบบที่ปราศจากการปรุงแต่งใดๆ”ส่วนในด้านการกำกับ  บุญส่งได้คิดเรื่องราวคร่าวๆ ไว้บ้างแล้ว  และเขาก็เอาสิ่งที่กำหนดไว้คร่าวๆ มาผสมกับธรรมชาติของนักแสดง เปิดช่องให้นักแสดงมีอิสระในการถ่ายทอดบทบาทอย่างค่อนข้างอิสระ

 



ในส่วนของการทำงาน บุญส่งยอมรับว่าเป็นการทำงานที่หนักไม่ใช่น้อย แต่การเลือกทีมงานที่พร้อมจะทำงานโดยไม่คิดอะไรมาก ก็ช่วยแก้ปัญหาได้เปลาะหนึ่ง  “คนที่มาทำงานเรื่องนี้ ก็ต้องเจอความลำบากมาก แต่เราก็เล็งไว้แล้วว่า ใครที่สามารถทำงานฟรีได้ และมีอุดมการณ์เดียวกัน ใครที่สามารถแบบรับการที่จะ ‘จ่ายทีหลัง ตอนนี้พี่ไม่มี ทำงานให้พี่ก่อนได้ไหม’ ใครที่มีเวลา 10 กว่าวันที่จะไปลุยกับเราได้  ก็เลือกคนประเภทนี้   ส่วนใหญ่ก็เป็นลูกศิษย์ลูกหา น้องนุ่ง ที่สนิทกัน เข้าใจกัน อย่างตากล้องซึ่งก็คือเปีย (ธีรวัฒน์ รุจินธรรม) ค่าตัวปรกติเขาเป็นล้าน เวลาสิบวันเขาอาจจะได้เงินเป็นล้านสองล้าน เขาก็มาช่วยเราฟรี  เราก็นับถือในน้ำใจของเขา คือเราเคยไปช่วยเขา เขาก็มาช่วยเราบ้าง แล้วเขามีสปิริตมาก เขาเคยทำหนังที่มีอุปกรณ์อะไรให้เขาเยอะแยะ แต่มาทำเรื่องนี้โดยที่ไม่มีไฟให้เขาเลยสักดวง  อาศัยแสงธรรมชาติอย่างเดียง  มาทำเรื่องนี้เขาก็ค้นพบอิสรภาพในการถ่ายภาพอีกรูปแบบหนึ่งเหมือนกันนะ “

 

 

ในส่วนของการถ่ายทำ  ได้มีการเลือกใช้กล้องถ่ายรูป Canon D7 ซึ่งสามารถถ่ายภาพเคลื่อนไหวในระดับ High Definition ได้เป็นอย่างดีมาใช้งาน  กล้องตัวนี้ถูกใช้ในการถ่ายทำโฆษณาหลายตัวและเชื่อว่าจะเป็นทางเลือกใหม่ในการถ่ายทำหนังไทยในอนาคตข้างหน้า

บุญส่งเชื่อมั่นว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่เขาจะได้แสดงความเป็นเขาได้มากที่สุด  แต่บุญส่งไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นอินดี้ เขาก็อยากเป็นคนทำหนังได้เงินคนหนึ่ง เพียงแต่การเข้าไปในระบบสตูดิโอที่ต้องมีเรื่องของหน้าหนัง มีเรื่องของจุดขายนั้น ไม่เหมาะสำหรับหนังของเขา  “ตอนที่ผมเริ่มทำหนังเรื่องนี้  ผมบอกทีมงานทุกคน บอกกับภรรยาว่า ผมขอโอกาสเป็นตัวของตัวเองสักครั้งเถอะ เพราะตลอด 18 ปีที่เข้าวงการหนัง ผมไม่เคยได้เป็นตัวของตัวเองเลย  หนึ่ง ผมไม่เคยได้เล่าหนังแบบที่อยากจะเล่าจริง ผมไม่เคยได้ทำหนังตามแบบของตัวเอง  แต่ ณ เวลานี้ มันเป็นไปได้ มันทำได้  นี่คืออินดี้ในแบบของผม”

หนังกำลังอยู่ในระหว่างขั้นตอนตัดต่อ โดยจะได้ อุรุพงษ์ รักษาสัตย์ ผู้กำกับสารคดี “สวรรค์บ้านนา” มาทำหน้าที่ให้  และน่าจะมีโอกาสฉายภายในปีนี้ในลักษณะของการฉายแบบจำกัดโรง  

เท่าที่ผ่านมา  สืบอาจจะเจอข้อจำกัดในการพิสูจน์ความเป็นผู้กำกับที่ยิ่งใหญ่  แต่ในแง่ของความเป็นคน  บุญส่ง นาคภู่ คือ “คนจนผู้ยิ่งใหญ่” และมันน่าสนใจอยู่ไม่น้อย  ถ้าเขาจะดึงตัวตนที่แท้จริงของเขาให้ชาวโลกได้รับรู้

โปรดรอพิสูจน์และให้การสนับสนุน  “คนจนผู้ยิ่งใหญ่” ที่ไม่ได้รับเงินส่งเสริมจากกระทรวงวัฒนธรรม

 

  ©all rights reserved
   
   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.