สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   

สัมภาษณ์ พันนา ฤทธิไกร - จากหนังเกรดบีสู่ตลาดโลก

 

สัมภาษณ์โดย อัญชลี ชัยวรพร (แหะ แหะ คนเดิมนั่นแหล่ะ  ....อยากสัมภาษณ์เรื่องนี้มาก เพราะเคยทำธีสิสหนังแอ็คชั่นของจอห์น วู ตอนเรียนหนังที่อังกฤษ ก็เลยคิดว่าตัวเองเป็นผู้สันทัดกรณีเรื่องหนังแอ็คชั่น)

  ©all rights reserved (ใช้สำหรับตีพิมพ์ในงาน Tribute - Kicks of Fury - Muay Thai เทศกาลหนังอูดิเน่ อิตาลี)
   
 

 

คุณพันนาเริ่มต้นอาชีพผู้กำกับคิวบู๊ได้อย่างไร
เรียนรู้ด้วยตนเอง  เริ่มจากหนังบรู๊ซลีก่อน  แล้วชอบมาก  ก็เลยมาหัดต่อยแบบบรู๊ซลี  แบบเฉินหลง  แต่ไม่มีพื้นฐาน  ตอนนั้นยังเรียนมัธยมอยู่  กลับมาบ้านก็ซ้อมคนเดียว  ไม่มีวิดีโอ  ใช้ดูตามโรงหนังบ้าง  หนังกลางแปลงบ้าง  พอทำได้ท่าหนึ่ง  ก็ไปดูอีกท่าหนึ่ง ดูเป็นร้อย ๆ รอบ  ถึง 200 รอบก็มี  บางทีก็ไปดูตามโฆษณาในหนังหนังสือพิมพ์  หรือหนังสือมือสองจากร้านแถวเยาวราช  หรือหนังสือต่างประเทศพวก martial arts ของบรู๊ซลี  บางทีก็ขึ้นรถไฟจากขอนแก่นเพื่อมาซื้อหนังสือพวกนี้อย่างเดียว วันไหนที่หนังเฉินหลงฉายในกรุงเทพ  ต้องนั่งรถไฟมาดูรอบแรกที่กรุงเทพ 

ฝึกเองอยู่ประมาณเจ็ดปี  แล้วก็ไปเรียนพละ ก็จะได้เบสิคแน่นขึ้น  พวกยิมนาสติก  เทควนโด้  ได้มวยไทย  ยูโด  กระบี่กระบอง  ได้พื้นฐานมาอย่างจริงจัง  ก็นำมาผสมผสานกัน 

พอเรียนจบพละ  ก็เข้ากรุงเทพมาทำด้านนี้โดยตรงกับคุณคมน์ อรรคเดช  ในสมัยนั้น หนังเป็นอะไรที่อยู่ห่างไกลสำหรับคนชนบทอย่างผม  พอผมทำได้  สาว ๆ ก็มอง  เด็ก ๆ ก็มาฝึกกับผม  คนเริ่มเยอะขึ้น  พอรู้สึกเป็นทีม  ทำได้เหมือนสตั๊นท์ของเฉินหลง ก็เกิดความมั่นใจขึ้น  เพื่อน ๆ บอกว่า เฮ้ย Krit (้his nickname) เราไม่เคยเห็นคนไทยทำได้แบบนายนะ  เขาต่างยุให้ผมมา  ตอนนั้นคุณคมน์เอาดาราฮ่องกงมาเล่นหนังด้วย  อย่างฉีเส้าเฉียน เดวิดเจียง ก็ได้ฝึกการใช้สตั๊นท์แมนอย่างเป็นระบบเป็นครั้งแรกใน เสือภูเขา  ก่อนหน้านั้นไม่มี  มีแต่เตะต่อยธรรมดา  ซึ่งทำให้ผมรู้ว่ามาใช้เส้นทางนี้ได้ 

บอกได้ไหมว่าพันนาเป็นคนแรกเริ่มใช้สตั๊นท์แมนในเมืองไทย
ก็เป็นนักบู๊ธรรมดา  จะเรียกว่าสตั๊นท์ก็ได้  แต่ไม่มีรูปแบบชัดเจน  ก่อนหน้านั้นไม่มี  อย่างมากก็แค่ฟันดาบ  ซึ่งพวกนักแสดงเขาก็เก่ง  กล้าเล่น  พวกนักแสดงบู๊หนังไทยสมัยก่อนยังเคยต่อยกับบรู๊ซลีเลย  ตอนที่เขามาถ่ายหนังในกรุงเทพหรือที่สระบุรี   

จริง ๆ แล้ว ผมทำระบบสตั๊นท์ก่อน  นักเรียนส่วนใหญ่ยังเรียนหนังสือกันอยู่  มาฝึกยามมีเวลาว่าง ตอนที่ผมต้องไปทำงานกับพี่คมน์  คนร่วมทีมที่เก่งที่สุด  ก็สอนต่อ เพราะผมต้องไปศึกษาระบบหนัง  ไม่เคยเห็นกองถ่ายเลย  ก็เริ่มรู้จักไฟ ดอลลี่  เลนส์์เป็นครั้งแรก  ช่วยทุกแผนก  ผู้กำกับบ้าง  ผู้กำกับภาพบ้าง  คนเขียนบทบ้าง ตัดต่อ  ช่วยเก็บเศษฟิลม์  ทำทุกอย่าง  เข็นดอลลี่ก็เข็น 

เริ่มทำหนังอย่างไร
ปี 1983 สามปีหลังจากทำงานกับพี่คมน์  ก็ไปรวบรวมเงินมาทำหนัง  คิดว่าคงหานายทุนยาก  เพราะมือใหม่  เรื่องแรก เกิดมาลุย  (Born To Fight – remade in 2005)  เรื่องคิดเอง เพราะมันต้องเอื้อต่อฉากแอ็คชั่น  สตั๊นท์แมนต้องทำเองหมดทุกอย่าง  ผมเองก็เล่นด้วย กำกับด้วย  คิวบู๊ด้วย  ตัดต่อด้วย  นางเอกก็เอาคนแถว ๆ นั้น  เธอเล่นไปได้หนึ่งสัปดาห์  ไม่เอาค่าตัว  เอาเงินมาซื้อฟิลม์  มาทำฉาก  

ฉายแล้ว ได้รับผลตอบแทนในกรุงเทพไม่ดี  ได้ฉายเอเพ็กซ์  เป็นหนังคั่นโปรแกรมเพียง 4-5 วัน  ที่ได้ฉายก็เพราะคิวบู๊  คนตื่นเต้นเพราะฉากบู๊ไม่เหมือนใคร  แต่ตอนไปฉายตามจังหวัดต่าง ๆ  คนรอดูทันทีที่เห็นเทรลเลอร์  คนดูเต็มโรง   นอกจากฉายตามโรงต่างจังหวัดแล้ว  หนังล้อมผ้าก็ได้ตังค์  คนก็ดูเต็มโรง  (หนังเร่)  งานบุญก็ได้เงิน  มันเผยแพร่ไปหมด  สายหนังที่ซื้อไปได้กำไรทุกสายเลย  เหนือ  อีสาน  ใต้ ตะวันออก นายทุนก็เลยจัดการให้  ส่วนใหญ่ฉายในกรุงเทพจะฉายโรงชั้นสอง  พวกฉายควบ  แต่ต่างจังหวัดได้หมด  ฉายทั่วประเทศ

ทำระบบแบบนี้อยู่นานไหม
สิบกว่าปี  ผมเองก็เล่นหนังเยอะ  เพื่อหาเงินทำหนังส่วนตัวด้วย  เพราะหนังของนายทุนไม่ได้ทำอย่างที่ต้องการ  เล่นหนังเยอะมาก  เดือนละ 3 เรื่อง  เข้าไปเล่นแบบแป๊บ ๆ  ผมให้รู้ว่ามีเราอยู่  เล่นแบบเดิมๆ  คนก็เลยเริ่มเบื่อ 

ทำหนังของตัวเองเพียงไม่กี่เรื่อง  เรื่องแรกชื่อ กองทัพเถื่อน กับ ปีนเกลียว  ออกแบบคิวบู๊ให้ตื่นเต้นขึ้น     ก็ติดตลาดนะครับ  แต่ลงทุนเยอะ  เลยเจ๊ง

ช่วงที่แย่ ๆ เคยคิดว่าจะเลิกทำงานสายนี้ไห
ไม่ครับ  แค่ขอให้อยู่ตัวไปเรื่อย ๆ

พอพี่ปรัชญาติดต่อมา คิดว่าเป็นโปรเจ็คใหญ่หรือเปล่า
ใช่ครับ  เพราะมันมาจากแกรมมี่  ผมเดินเข้าไป แล้วตื่นเต้นมาก  มีคนเปิดทางให้แล้ว  ผมเสนอต่อไปว่า มีเด็กคนหนึ่งเก่งมาก  พี่เขาถามว่า เก่งเท่าพันนาไหม  ผมบอกว่า มันคนละยุคกัน  ตอนนั้นผมอายุสามสิบกว่า  จาอายุ 21-22  แกถามต่อว่าเก่งเท่าเฉินหลงไหม  ผมพยักหน้า  แกไม่เชื่อเราทันทีเลย  แกคิดว่าเราโม้  แกมีอารมณ์เลย  ผมก็หมดกำลังใจ  แต่แกก็ให้กำลังใจทิ้งท้ายเลยว่า ก็ไม่แน่หรอกนะ  มันอาจจะเป็นหนึ่งในล้านก็ได้ 

ตอนนั้นพี่ปรัชยังไม่เจอจา
ยัง  จาเขารออยูข้างล่าง  ตอนนั้นเราเริ่มไปไหนด้วยกันแล้ว

ทำไมถึงกับต้องลงทุนถ่ายทำเลยล่ะคะ แสดงให้ดูเฉย ๆ ไม่ได้หรือ
มันไม่เห็นภาพที่ต่อเนื่อง  มันจะได้แค่เป็นคัท  เราอยากให้พี่ปรัชเขาเห็นเป็นเรื่อง  ทำเป็นหนัง  เป็นฟิลม์เลย  ชื่อเรื่องว่า "คนสารพัดพิษ" แต่ไม่ได้บอกชัดเจน  เนื้อเรื่องก็คือ จาเก่งทุกอย่าง  เรานัดกันไปดูที่ห้องแล็บ  แกดูแล้ว  แกก็ทำเฉย ๆ  เดินลงมาด้วยกัน  พี่ปรัชก็ถามว่า พันนาทำไปเพื่อฉายที่ไหน  ผมตอบว่า ทำให้พี่ดู  แกก็ตกใจ  ถามว่าเอาเงินมาจากไหน  ผมบอกว่าไม่เป็นไร  แกก็เงียบ  แล้วเราก็แยกย้ายกันกลับ  ระหว่างทางแกก็โทรมา  พันนา อย่าไปให้ใครดูอีกนะ  แล้วห้องแล็บ  จ่ายค่าล้าง  ค่าอะไรหรือยัง  ผมบอกว่ายังครับ  แกก็บอกว่า ผมจัดการเอง 

ออกแบบคิวบู๊องค์บาก แตกต่างจากเรื่องก่อนหน้านั้นอย่างไร
แตกต่างครับ  คราวนี้จะไม่ใช่เฉินหลง กับเจ็ตลีแล้ว แต่จะเป็นแม่ไม้มวยไทย  ผมเป็นคนสอนมวยไทยเอง   แต่ก็ไม่ได้รู้จริงเท่าครูที่สอนศิลปะมวยไทยจริง ๆ  รู้จักตำราในหนังสือ  มันเป็นความใหม่  บวกกับความสามารถเฉพาะตัวกับของจา  ถ้าเขาลอยตัว  สำหรับแม่ไม้มวยไทย  เขาจะลอยกว่าปรกติ  เพิ่มท่าเข้าไป     บวกกับความสามารถของจา และการปรับจากท่าของเฉินหลง บรู๊ซลี  แล้วก็ใส่ real action อีก  เข่าก็ต้องโดนจริง  ที่ฝรั่งเขาตื่นเต้นนั้น  เพราะว่าจาเป็นคนทำ  และมันเหมือนจริง 

ทำไมจาถึงมีความสามารถขนาดนั้น 
เขาเรียนกับผมตอนแรก  พื้นฐานศิลปะการต่อสู้ไม่มี  เลียนแบบเหมือนเฉินหลง บรู๊ซลี  ตอนนั้นเขาจบแค่ม. 6 ผมก็บอกให้ไปเรียนวิทยาลัยพละมา  ระหว่างนั้นเขาก็มาเรียนรู้ศาสตร์ของหนัง  บวกกันสามก้อน  เทคนิคของหนัง  เทคนิคของสตั๊นท์  และความสามารถเฉพาะตัวของจา  โดยผมมาดีไซน์ 

ความสามารถเฉพาะตัวของจานี่คืออะไร
กระโดดสูง และลอยตัวได้ไกล  มีความมุ่งมั่นเกินเหตุ  ยอมตายเพื่อหนังได้  ไม่ใช่มาเพราะอยากดัง  หรืออยากได้เงิน  แต่มาเพราะ "ทำได้"  เขาเป็นอัจฉริยะทางนี้  เขาฝึกอะไรได้หมด  ตอนที่เขาทำท่าแบบเฉินหลง  ผมบอกว่าถ้าเฉินหลงหมุนได้ 2 รอบ  จาจะไปฝึกให้หมุนได้ 3 รอบ  ซ้อมวันนี้ไม่ได้  วันรุ่งขึ้นก็ได้   เขามักจะเป็นแบบนี้  ทำอะไรที่เกิน ๆ ได้เสมอ

แล้วนักแสดงคนอื่นล่ะคะ  อย่่างเดี่ยว ชูพงษ์ จีจ้า 
เดี่ยวทำได้ทุกอย่าง  แต่ไม่มีเสน่ห์  เราจะต้องทำเขาให้ฉีกออกไปอีกแบบ  อย่าไปทำเหมือนจา  เรากำลังวางแผนกันอยู่ 

ส่วนจีจ้า ผมว่าแค่เขาทำได้  ไม่ต้องเก่งมากเหมือนจา  เอาสัก 40 เปอร์เซนต์  และหน้าตาน่ารัก  ก็พอแล้ว  พอดีตำแหน่งผู้หญิงแอ็คชั่นยังว่างอยู่  ส่วนเด็ก ๆ ก็คล้าย ๆ กับจีจ้า 

อะไรที่ทำให้การดีไซน์ฉากแอ็คชั่นของพันนาเป็นที่ยอมรับได้ขนาดนี้
ประสบการณ์  อาจจะเป็นเพราะดูหนังเฉินหลง  บรู๊ซลีมาเยอะ  ดูสารคดีบ้าง  ประสบการณ์จากการทำหนังสายเกือบร้อยเรื่อง  ก็จะทำให้ออกแบบได้สวยขึ้น  ผมมีมุมมองพิเศษ  รถจอดอยู่นี่  ถ้ากระโดดข้ามรั้วได้มันไม่เท่าไร  ฉีกขาก็ฉีกกันได้ทุกคน  สไลด์ก็ได้  ถ้าฉีกขาใต้ท้องรถ มันไม่ธรรมดา

ใน องค์บาก ผมคิดเองแทบทุกฉาก  อย่างฉากลอดห่วงลวดหนามนั่น  เป็นเทคนิคพับตัว  จาเขาได้แชมป์เหรียญทองกระโดดไกลจากวิทยาลัยพละมา  เขาก็มีความสามารถตรงนี้อยู่แล้ว  พอถึงฉากกระโดดไกลใน องค์บาก  เขาทำได้อยู่แล้ว แต่ผมให้ทีมงาน ไปเอากิ่งไม้มาปัก ๆ  มันจะเสริมความมั่นใจให้ตัวเขา  เหมือนกับมีกำลังภายใน  แล้วถ้ามาเหยียบคนโดยไม่มีสลิงอะไรจะเกิดขึ้น  คนสัก 10 คน จะเป็นอย่างไร  โอ้โฮ ทึ่งกันทั้งโลกเลย

อะไรเป็นจุดเด่นฉากแอ็คชั่นของพันน
ผมชอบมองในสิ่งที่คนอื่นไม่เห็น ทำแล้วให้คนอึ้ง  ไปหยิบในสิ่งอีกแบบที่ไม่ทำ  อย่างเรื่องนักกีฬาใน Born To Fight  ผมเห็นว่า เวลาคนไปดู  ก็ชอบ  ทุกคนเฮ ๆ  เราไม่ต้องซ้อมเขา  แค่ออกแบบเท่านั้นเอง  อีกอย่างข้อแรกก็คือ ไม่มีคนทำ  และพวกเขามีคนรู้จักหมดแล้ว

เวลาออกแบบท่า จะนึกถึงคนดูบ้างไหม
คิดตลอดล่ะครับ  โดยเอาตัวเองวัดมาตลอด   จะต้องไม่มีคนเคยทำ  เราอาจจะเอาเฉินหลงและเจ็ตลีเป็นฐาน  แต่เราจะทำอีกแบบ  เรารู้ว่าเขาใช้สลิง  แต่เราจะไม่ใช้  แล้วมันก็ได้ผลจริง ๆ  เวลาจาไปแสดงสดที่อเมริกา ที่ญี่ปุ่น  เขาก็ไม่เคยหิ้วสลิงไปด้วยเลย  มันก็เลยเกิดความเชื่อ  ตอนนี้คนเลยเชื่อกันหมดแล้ว

Do you manipulate the audiences?
ขอให้คนดูพอใจ  นั่นก็คือ เป้าหมายของผม

ทุกวันนี้ หนังฮ่องกงยังมีบทบาทต่อตัวเองอีกหรือเปล่า
ไม่เท่าไร  ผมกลับไปดูหนังบรู๊ซลี และเฉินหลงอีก พบว่า ตอนนี้ เฉินหลงเอาความคิดเก่า ๆ ของตัวเองมาปรับใหม่  อย่าง Rush Hour เป็นคิวเก่าหมดเลย แต่ใช้อุปกรณ์ใหม่  และต่อสู้กับฝรั่งเท่านั้น

ตอนนี้คนจะตามเรานะ  เพราะฉะนั้น ผมก็จะหนีตัวเอง  เราต้องพัฒนาไปทำท่าใหม่ ๆ  เพราะเขามีทุนด้วย  บทเขาดีด้วย  ผมได้ข่าวว่า ทอม ครูซ เอาองค์บากไปดูเหมือนกัน  

ตอนนี้ต้องดูหนังเยอะขึ้นไหม
ดูทุกวันเลย  แต่ย้อนกลับไปดูหนังยุคเก่ามากกว่า ของเฉินหลง  หนังฝรั่ง  เพราะตอนนี้คนมาแข่งกันเรื่องซีจีมาก

แล้วโดยส่วนตัว  ชอบแบบไหนมากกว่ากันระหว่าง martial arts กับ special effect
ชอบ martial arts มากกว่า เท่าที่ผ่านมาเราก็ใช้พวกซีจีบ้าง  แต่จะลบสิ่งที่ไม่จำเป็นออก  สิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับความสามารถของนักแสดง 

แนวโน้มของการออกแบบคิวบู๊และหนังแอ็คชั่นไทยจะเป็นอย่างไร
ยังไม่ค่อยเยอะนะ  ตอนนี้เรามีผู้หญิงอย่างจีจ้า เด็ก ๆ อย่าง ส้มตำ และ พาวเวอร์คิดส์  เอาเฉพาะกลุ่มให้ครบ  ยังไม่ได้พัฒนาแอ็คชั่นไปให้ไกลมากนัก  ควบคุมฉากแอ็คชั่นให้มันน่าดูเท่านั้น  บางทีก็โดน แต่มันก็ยังไม่ใหม่มากอย่าง องค์บาก

ก้าวต่อไป  เราต้องมาพัฒนามาที่ฉากแอ็คชั่นให้กว้างและใหม่มากกว่านี้  ซึ่งหลักที่เราคิดอยู่ก็คือ "ต้องหนีตัวเอง"

ตอนแรกคิดว่าตัวเองจะประสบความสำเร็จโกอินเตอร์ขนาดนี้หรือเปล่า
ไม่ ๆ  แต่ฝันนะ  ตอนเริ่มถ่าย  ผมเริ่มมั่นใจนะ  ว่ามันต้องเกิดแน่ ๆ  เพราะผมทำเองหมด 

ตอนขึ้นเครื่องบินครั้งแรกที่เกาหลี  ครั้งแรกนะ  ที่เห็นคนต่างประเทศดูหนังของคนไทยเรา  เป็นงานเทศกาลหนัง  ฉายกลางแจ้ง  ขนลุก  ได้ขึ้นเวทีด้วย   

 

   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.