สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   

ตัวตนและความคิดของคนทำหนังชื่อ “จักรวาล นิลธำรงค์”

 

สัมภาษณ์โดย ณัฎฐ์ธร กังวาลไกล / 27 มกราคม 2552

  ©all rights reserved
   
 

 

จักรวาล นิลธำรงค์  เป็นใครกัน  …คำถามที่อาจจะเริ่มผุดขึ้นในใจของคนหลายคน  “ชื่อคุ้น” อาจจะเป็นคำตอบของคนส่วนใหญ่ 

แต่สำหรับกลุ่มคนทำหนังสั้นด้วยกันแล้ว  ชื่อของเขาเริ่มเปิดเผยต่อชุมชนเล็ก ๆ แห่งนี้  ด้วยผลงานที่มักจะได้รับเชิญไปหลากหลายเทศกาล  ใกล้เข้าไปอีกนิด  จักรวาล คือหนึ่งในชื่อผู้กำกับที่จะอำนวยการผลิตด้วยพิมพกา โตวิระ หรือเอ็กซ์ตร้าเวอร์จิน  คราวนี้คุณคงจะร้องอ๋อกันมากขึ้น 

A Voyage of Foreteller งานนำร่องที่เขาตั้งใจจะพัฒนาเป็นหนังยาว ว่าด้วยโลกของอดีตกับอนาคตที่ซ้อนทับกัน, Parallrel Journey โลกคู่ขนานของชายสองคนจากอีกมุมหนึ่งของโลก ที่ดำเนินเรื่องด้วยอารมณ์ผ่อนคลายและสนุกสนาน หรือ Dripping หนังทดลองสุดหลอน ที่มีแรงบันดาลใจจากการทรมานนักโทษสมัยสงครามโลก งานพวกนี้ล้วนมีสไตล์ภาพที่โดดเด่น และมีเทคนิคการสื่อสารที่ตรึงความสนใจแก่คนดูได้  แม้จะไม่มีเรื่องเป็นแก่นหลักอย่างหนังปรกติก็ตาม   และล่าสุด Man & Gravity เป็นหนังสั้นไทยที่เข้าประกวดที่เทศกาลหนังร็อตเตอดัมในปีนี้

 

จุดเริ่มต้น …..

จักรวาลจบการศึกษาปริญญาตรีที่เมืองไทย จากคณะจิตรกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร แล้วไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา กว่าจะสมัครเข้าเรียนที่ Pratt Institute ได้ เขาต้องหมดเวลาไปกับการเรียนภาษาเพิ่มเติมและทำพอร์ต(ตัวอย่างงาน)อยู่หลายปี  หลังจากเรียนที่ Pratt Institute เขาก็ต่อปริญญาโทที่ School of the Art Institute of Chicago และช่วงที่เรียนที่นี้นั่นเองเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาสนใจด้านภาพยนตร์ “คือก่อนหน้านั้นผมตั้งใจว่าจะไปเรียนพวก Media Arts จึงสมัครเข้าไปเรียนคณะ Art and Technology Studies แต่เผอิญว่าคณะที่ผมเรียนมันอยู่บนตึกชั้นเดียวกันกับคณะ Film / Video / New Media  จึงทำให้มีโอกาศคลุกคลีกับอาจารย์แล้วก็เพื่อนที่เรียนภาพยนตร์  พอผ่านไปหนึ่งปีผมก็เลยเปลี่ยนเลือกลงวิชาเกี่ยวกับภาพยนตร์มากขึ้น จนสุดท้ายตอนที่ Thesis ก็ทำเป็นหนังยาว 50 นาทีครับ”

 

A Voyage of Fortuneteller

 

Patterns of Transcendence

 

Orchestra

 

และหลังจากงานวิทยานิพนธ์ชิ้นนั้น  จักรวาลก็ต่อด้วยผลงานอีกนับสิบเรื่อง ทั้งที่เป็นวิดีโออาร์ตกับอินสตอลเลชั่น (แสดงตามนิทรรศการ) และผลงานบางส่วนอย่าง Dripping ก็ได้รับรางวัลชมเชยจากการประกวดหนังสั้นครั้งที่ 10 ของมูลนิธิหนังไทย A Voyage of Foreteller เคยได้รับรางวัลเล็ก ๆ ที่เกาหลี  Patterns of Transcendence ไปฉายที่ร็อตเตอดัม  ผลงานเหล่านี้เคยไปร่วมในเทศกาลระดับนานาชาติอย่าง  Oberhausen, Clermont-Ferrand, Rotterdam และแสดงในแกลอรี่ กับ Art Exhibition ในยุโรป

เมื่อปีที่แล้ว เทศกาลหนังบริสเบนได้จัดโปรแกรมพิเศษของหนังไทย  โดยคัดเลือกผู้กำกับหนังสั้นและหนังยาวที่เขาคิดว่าเป็น "อุกกาบาตไทย"   จักรวาล กับ A Voyage Fortuneteller ก็ได้รับการคัดเลือกเป็นหนึ่งใน 5 อุกกาบาตไทย ได้แก่ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล  เป็นเอก รัตนเรือง  วิศิษฎ์ ศาสนเที่ยง และ อุรุพงษ์ รักษาศาสตร์  

สำหรับจักรวาล หนังเป็นศิลปะที่แตกต่างจากจิตรกรรมที่มี 2 มิติ หรือปฎิมากรรมที่มี 3 มิติ เขามองว่าหนังเป็น Art Medium อย่างหนึ่งที่มีเรื่องเวลาบวกเข้ามาเป็นมิติที่ 4 “พื้นเพผมไม่ได้สนใจเรียนทางด้าน Narrative Film(หนังเล่าเรื่อง) มาตั้งแต่ต้น  ครั้งแรกๆ ที่ได้ทำหนังจากไอเดียของตัวเอง ผมคิดถึงฟิล์มในฐานะที่มันเป็น Material(วัตถุดิบ) ที่เราจับต้องได้ เอามันมาขูดขีดได้ ไม่ได้เรียนเรื่อง Directing หรือ Acting เลยพอได้ก้าวขามาทำจริงๆ มันเลยไม่ค่อยจะเป็นหนังที่มีโครงสร้างแบบหนังทั่ว ๆ ไปเท่าไหร่”

 

หนังกับวิดีโออาร์ต : สับสนบ้างไหม?

สำหรับเรื่องความแตกต่างของหนังทดลอง และวีดีโออาร์ตกับสื่อประเภทนี้รูปแบบอื่นๆ เขาให้ความเห็นว่า “ผมเดาว่ามันน่าจะแยกกันโดยจุดประสงค์?ในการทำและการจัดแสดงครับ  Video Artist หลายๆ คนที่แสดงงานใน Museum หรือ Art Space จะไม่ค่อยนำเรื่อง Duration ของงานมาเป็นเงื่อนไขในการผลิตหรือออกแสดง คือคนดูสามารถเดินเข้าออกห้องแสดงงานได้ แม้ยังดูไม่จบ   แต่ถ้าเรียกว่าเป็นหนังแล้วผู้ชมคงต้องมั่นใจพอสมควรที่จะเข้าไปนั่งเงียบๆ อยู่ในห้องมืดเป็นเวลาสองชั่วโมง แต่ภาพกว้างๆ โดยรวมแล้วผมเห็นว่าแนวโน้มของเทศกาลหนังและงานเทศกาล ศิลปะใหญ่ ๆ อย่าง Documenta หรือ Venice Biennale ก็เริ่มที่จะผสมผสานโลกสองฝั่งนี้เข้าด้วยกัน  อย่างล่าสุดที่ Rotterdam เขาก็มีไอเดียที่จะเชิญคนทำหนัง มาทำ Installation Arts”

เมื่อถามถึงความยากง่ายในการทำงานแต่ล่ะชิ้น จักรวาลกล่าวว่ามันก็ขึ้นอยู่กับแต่ละโครงการที่เขาทำ รายละเอียดของเรื่องราวและความแตกต่างของฉากและผู้แสดงที่ไม่เหมือนกัน แต่โดยทั่วไปแล้วหนังของเขาก็ไม่ต่างจากหนังทุนต่ำทั่วไปๆ ที่มีเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ รอบตัวมาช่วยกันทำหน้าที่หลังกล้องต่างๆ สลับสับเปลี่ยนกันไป  โดยคนเหล่านี้มักจะมาจากสายโปรดักชั่นในหนังไทยอยู่ก่อนแล้ว “เหมือนผมมีแต่ไอเดีย แล้วก็ต้องขอให้เพื่อนๆ เอาประสบการณ์ที่มีเข้ามาผสมช่วยทำให้มันเป็นรูปเป็นร่าง  บางครั้งทำให้เราได้เรียนจากเขาไปด้วยในตัว”

 

แรงบันดาลใจ : อภิชาติพงศ์  เป็นเอก และอื่น ๆ

สำหรับสไตล์ภาพที่มีเอกลักษณ์ของจักรวาล  มีงานของผู้กำกับหลายคนที่เขาถือว่าเป็นอาจารย์ อย่างเช่น Tarkovsky, David Lynch, Bunnel, Ozu, Chris Marker หรืออย่างอภิชาติพงษ์ วีระเศรษฐกุลและเป็นเอก รัตนเรือง  สำหรับผม เขานำเอาแรงบันดาลใจจากผลงานของคนเหล่านี้มาผสมผสานออกมาเป็นรูปแบบของเขาได้อย่างลงตัว

 

Man and Gravity เป็นหนึ่งในผลงานล่าสุดของจักรวาล และได้เป็นหนังสั้นไทยเรื่องเดียวที่ไปประกวดที่เทศกาลหนังร็อตเตอดามปีนี้  เขาเล่าถึงที่มาที่ไปของหนังสั้นเรื่องนี้ว่า “เป็นโปรเจคที่เริ่มต้นเมื่อปลายปีที่แล้ว โดยได้ไอเดียมาจากการอ่านหนังสือของท่านพระพุทธทาส มีตอนหนึ่งท่านเขียนเรื่องแรงโน้มถ่วงเปรียบเทียบได้กับกรรมที่อยู่รอบตัวเราแต่เรา มักไม่ได้ตระหนักถึงที่มาที่ไปของกิจวัตรที่ก่อให้เกิดทุกข์  ผมมีความคิดที่จะนำโควตที่เป็นบทกวีของท่านมาทำให้เป็นภาพเคลื่อนไหว  โดยในวิดีโอจะเป็นภาพของมนุษย์ (อาจเป็นคนเดียวหรือกลุ่ม) พยายามทำกิจกรรมบางอย่างเพื่อเอาชนะแรงโน้มถ่วง (หรือกรรม) โดยในส่วนที่ไปประกวดที่ Rotterdam เป็นส่วนที่ถ่ายบริเวณโรงงานระเบิดภูเขาที่จังหวัดสระบุรี  โดยให้เป็นเรื่องของชายคนหนึ่งพยายามขนขยะรีไซด์เคิลขึ้นไปยังเนินเขาสูงที่ถูก ระเบิดจากการผลิตปูนซีเมนต์  คล้าย ๆ กับเป็นการเปรียบเทียบในเชิงภาพในเรื่องการเวียน ว่าย ตาย เกิด กับสถานที่คือภูเขาที่ถูกย่อยสลายมาทำเป็นสสารอีกอย่าง  ประกอบกับไอเดียนี้มันไปพ้องกับเรื่องนิทานโบราณของกรีกเรื่องหนึ่งเรียกว่า Sisyphean ซึ่งเป็นเรื่องของกษัตริย์องค์หนึ่งที่ถูกลงโทษให้กลิ้งหินขนาดมหึมาขึ้นภูเขาแล้ว ปล่อยลงมาใหม่ตลอดกาล ผมจึงรู้สึกว่ามันเป็นหัวข้อค่อนข้างสากล จึงพยายามหาทางจะขยายไปทำในเมืองต่าง ๆ เท่าที่โอกาสจะอำนวยครับ”

จักรวาลนอกจากเป็นนักทำหนังตัวยงแล้ว เขายังเดินทางไปประเทศต่างๆ อยู่บ่อยๆ เพื่อทำหนัง เมื่อถามว่าการไปต่างประเทศบ่อยๆ มีผลกับงานของเขาไหม จักรวาลตอบออกมาว่า “คงมีผลในส่วนของแนวคิดที่จะสะท้อนออกมาใน concept ของงานแต่ละชิ้น ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาผมหมกหมุ่นอยู่กับเรื่อง Alienation หรือความรู้สึกแปลกแยกของคนกับ สภาวะแวดล้อมรอบตัว  ก็คงเป็นมาจากการที่ต้องไปอยู่ที่ที่เราไม่คุ้นเคยนานๆ บางครั้งมันทำให้ตัวเองเหมือนกับมนุษย์ล่องหน แล้วคอยสังเกตุความเป็นไปรอบ ๆ ตัวอย่างเงียบๆ ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้มันค่อย ๆ สะท้อนออกมาในงานศิลปะ ในบทภาพยนตร์โดยเราไม่รู้ตัว”

ขณะนี้ จักรวาลได้เดินทางไปญี่ปุ่น เพื่อทำโครงการเล็กๆ ซึ่งใช้เวลาประมาณสองเดือน และเป็นโครงการที่ต่อเนื่องกับ โปรเจ็คท์ Man and Gravity  ส่วนสำหรับหนังยาวนั้น  จักรวาลก็พัฒนาเรื่องและผลักดันหาทุนอยู่เรื่อยๆ หลายโครงการทีเดียว จะได้ทำเรื่องไหนก็ขึ้นอยู่กับว่าเรื่องไหนจะหาทุนได้ก่อน

   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.