สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   

ตามกองถ่ายสารคดี CNN ไปสัมภาษณ์ท่านมุ้ย และเยี่ยมชม นเรศวร 3

  สัมภาษณ์ : เกรแฮม เดวิส     เขียนและถ่ายภาพ : อัญชลี ชัยวรพร (13 สิงหาคม 2551)
  ©all rights reserved
   
 

Courtesy of CNN / True

สารคดีชุดนี้ชื่อว่า Scene By Scene เป็นส่วนหนึ่งของการแจกรางวัล เอเชียแปซิฟิกสกรีนอวอร์ด  ซึ่งจัดขึ้นปีนี้เป็นปีที่สองที่โกลด์โคสต์ ประเทศออสเตรเลีย  โดยทางผู้จัดได้ผลิตสารคดีเกี่ยวกับภาพยนตร์แถบเอเชีย - แปซิฟิก และภาพยนตร์ที่เข้าประกวดไว้หลายตอน   ในตอนแรกนี้ชื่อว่า The Best of Asia - Pacific Filmmakers โดยตามสัมภาษณ์ผู้กำกับสำคัญในประเทศย่านนี้ ดังต่อไปนี้

 




ออสเตรเลีย
นิวซีแลนด์
รัสเซีย

 

ออสเตรเลีย เยี่ยมชมกองถ่ายชีวิตนักเต้นบัลเล่ต์ชื่อดัง Mao’s Last Dancer และสัมภาษณ์ บรูซ เบเรสฟอร์ด, โจน เช็น, และ Chi Cao.

นิวซีแลนด์ เียี่ยมชมปีเตอร์ แจ็กสัน และทีมงานผู้สร้างสรรค์ Lord of the Rings

อินเดีย

รัสเซีย สัมภาษณ์   Alexandar Rodnyansky

ไทย และจอร์แดน ประเทศที่ราชวงศ์มีส่วนเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมหนัง 

สารคดีทั้งชุดนี้มีความยาว 30 นาที ออกเผยแพร่ 4 ครั้ง เมื่อวันที่ 4 - 6 ตุลาคม 2551 บทสัมภาษณ์จริงยาวเป็นชั่วโมง  อ่านฉบับเต็มได้จากข้างล่างนี้   

 

 

 

ในช่วงสองเดือนนี้  มีทีมงานเล็ก ๆ ทีมหนึ่ง  ประกอบด้วยโปรดิวเซอร์- ผู้กำกับ เกรแฮม   ช่างภาพบรูซ  และหนุ่มซาวน์แมนนามจอร์จ  ตระเวนไปทั่วแคว้นแดนเอเชียแปซิฟิก  …จากนิวซีแลนด์  รัสเซีย  อินเดีย  จีน   อิสราเอล ฯลฯ ตามสัมภาษณ์ผู้กำกับภาพยนตร์ชั้นนำในแต่ละประเทศ  

พวกเขากำลังถ่ายทำสารคดีชุดพิเศษความยาว 45 นาทีให้กับซีเอ็นเอ็น   บันทึกเรื่องราวความเคลื่อนไหวของหนังและผู้กำกับชั้นนำจากประเทศในแถบเอเชียและแปซิฟิก โดยจะคัดเลือกอุตสาหกรรมหนังที่แตกต่างกันไปในแต่ละปี   สารคดีดังกล่าวจะเผยแพร่ในรายการโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น  และในงานพิธีแจกรางวัลเอเชียแปซิฟิกสกรีนอวอร์ดส์ ที่ออสเตรเลีย  ซึ่งปีนี้จะจัดขึ้นเป็นปีที่สอง

เป็นปีที่สองอีกเช่นกันทีมงานนี้เดินทางไปทั่วเอเชีย  เพื่อการถ่ายทำสารคดีชุดนี้  และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว  ทีมงานทั้งสามก็ได้เดินทางมาเมืองไทย  หลังจากที่ได้ยกเลิกไปอย่างปัจจุบันทันด่วนเมื่อปีที่แล้ว  

 

 

ทันทีที่เครื่องลงจอดที่สนามบินสุวรรณภูมิ  พวกเขาก็ตรงดิ่งไปที่จังหวัดกาญจนบุรีทันที  เตรียมตัวบุกกองถ่าย นเรศวร 3 ในค่ายสุรสีห์ และขอสัมภาษณ์ท่านมุ้ย …มจ.ชาตรีเฉลิม ยุคล (ในส่วนของหนังไทย  เขาสัมภาษณ์ผู้กำกับเพียงไม่กี่คน  เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องความยาวของสารคดี  แม้ว่าผู้เขียนจะ้แนะนำไปถึง 6 คนก็ถาม  นอกจากท่านมุ้ยแล้ว  อีกทีมงานหนึ่งก็ตามสัมภาษณ์จุ๊ก อาทิตย์ อัสสรัตน์ ขณะที่ Wonderful Town ไปเทศกาลหนังบริสเบนพอดี  ซึ่งผู้เขียนกล่าวย้ำกับทีมงานว่า จะต้องสัมภาษณ์ผู้กำกับอินดี้สักคน ถ้าเขาอยากได้้ภาพรวมของหนังไทย)

ผู้เขียนมีโอกาสได้ร่วมฟังการสัมภาษณ์ท่านมุ้ยในครั้งนี้  พบว่ามีหลายประเด็นคำถามคำตอบที่น่าสนใจ  เพราะเขากล้าถามในสิ่งที่คนไทยหลายคนไม่กล้าถาม  และโชคดียิ่งนักที่อยู่ดี ๆ ผู้กำกับเกรแฮมอนุญาตให้เรานำการสัมภาษณ์ครั้งมาถ่ายทอดเป็นภาษาไทย     

เกรแฮมเริ่มคำถามแรกถึงเหตุผลที่พร้อมมิตรเปิดสตูดิโอให้นักท่องเที่ยวเข้าไปชมได้    ท่านมุ้ยได้ไขความกระจ่างในข้อนี้ว่า เพราะค่าใช้จ่ายในการดูแลสถานที่ค่อนข้างสูง  ก็เลยจำเป็นต้องเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวตามไปด้วย 

 

 

คนทำหนังเป็นได้ทั้งหมาและพระเจ้า  : เกรแฮมยิงคำถามตรงประเด็นไปเลยว่า ทำไมท่านถึงตัดสินใจมาทำหนัง  ท่านมุ้ยก็ได้ไขความกระจ่างในข้อนี้ว่า มันอยู่ในสายเลือด  ทั้งตระกูลก็มีหลายคนที่เข้ามาทำหนัง  มาเกี่ยวข้องกับหนัง  ตั้งแต่ลุง (พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล) พ่อ (พระองค์เจ้าอนุสรณมงคลการ)  แล้วต่อมาก็เป็นท่านมุ้ยเอง  ตอนแรกนั้น  ท่านพยายามหนีอาชีพนี้  ด้วยการเลือกเรียนเอกวิชาธรณีวิทยาแทนที่ยูซีแอลเอ  “อาชีพทำหนังไม่มั่นคง  วันหนึ่งอาจเป็นพระเจ้าได้  อีกวันก็อาจจะเป็นหมาได้  แต่ก็หนีไม่พ้น  ตอนนี้ลูก ๆ หลาน ๆ ก็มาทำอาชีพนี้กันหลายคน  ลูกสาวก็เป็นมือตัดต่อมือหนึ่งของประเทศ (มรว.ปัทมนัดดา ยุคล)  ลูกชายอีกคนก็ทำโฆษณา  อีกคนก็ทำสารคดีเหมือนคุณ”

อิทธิพลของคอปโปล่ากับโรมัน โปลันสกี้ : เกรแฮมถามท่านว่าเคยเรียนร่วมกับผู้กำกับดังทั้งสองจริงหรือ  ท่านบอกว่าเคยเรียนชั้นเดียวกับคอปโปล่าจริง  ส่วนโรมัน โปลันสกี้อยู่คนละปี  แต่เขาอยู่ห้องถัดไป  

ส่วนเรื่องอิทธิพลของคอปโปล่านั้น  ท่านมุ้ยตอบว่า ตอนนั้นนักเรียนทุกคนถือว่าคอปโปล่าเป็นฮีโร่  เป็นนักเรียนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด  เพราะได้ทำหนัง Godfather ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

 

 

เจ้าเป็นเพียงคนธรรมดา  บางครั้งการเป็นเจ้าจะดึงผมให้ถอยหลังเสียมากกว่า : แล้วเกรแฮมก็ยิงคำถามอันมักจะเป็นที่สนใจของฝรั่ง  นั่นก็คือการเป็นเจ้ามีส่วนช่วยเหลือในการทำหนังหรือไม่   ท่านมุ้ยตอบว่า เจ้าในประเทศไทยไม่เหมือนที่อื่น  ไม่ได้โก้หรู  เจ้าในเมืองไทยก็ต้องทำงานหาเลี้ยงชีพ  เจ้าเป็นเพียงแค่คนธรรมดาที่มีคำนำหน้านาม  “บางครั้งการเป็นเจ้า  ดูจะเป็นข้อเสียมากกว่า  เวลาเอาหนังไปฉายต่างประเทศ  บางทีคนไม่ได้มาพูดถึงหนังของผม  แต่กลับพูดถึงตัวผมเสียมากกว่า บางคนก็มาถามว่า เจ้าในประเทศไทยแต่งตัวอย่างไร  มันค่อนข้างจะเป็นตัวดึงผมให้ถอยหลังเสียมากกว่า”

ท่านมุ้ยขยายความต่อว่า ท่านเองก็เคยมีปัญหาเรื่องเซ็นเซอร์เหมือนคนอื่น ๆ  “หนังไทยห้ามมีฉากเซ็กส์  หรือสิ่งที่จะยั่วยุให้เกิดเซ็กส์  ผมเคยมีหนังเรื่องหนึ่ง  ที่มีฉากเห็นหัวนม  เขาก็ไม่ให้ผมฉายเหมือนกัน  ทั้งที่ฉากเห็นหัวนมนั้น  มันไม่ได้มีเซ็กส์ตามมาอะไรเลย

แต่ท่านคิดหรือไม่ว่า บางครั้งท่านได้รับอนุญาตในเรื่องต่าง ๆ เพราะความเป็นเจ้าของท่านหรือไม่
ท่านมุ้ย : ก็เป็นไปได้

หนังสะท้อนปัญหาสังคม : เกรแฮมเริ่มเข้าประเด็นไปที่ผลงานของท่านโดยตรง  ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลที่ท่านมุ้ยตัดสินใจทำงานหนังสะท้อนปัญหาสังคมในช่วงต้น ๆ   รวมทั้งหนังที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับโสเภณีเด็ก (เสียดาย 1) 

ท่านมุ้ยตรัสว่า การที่ท่านทำหนังสะท้อนปัญหาสังคมเหล่านั้น  เพราะเรื่องราวนั้นจำเป็นที่จะต้องบอกกล่าวให้สังคมรับรู้  เท่าที่ผ่านมา  ท่านก็ได้ทำหนังเกี่ยวกับคนขับแท็กซี่  โสเภณี  มือปืน  ครูในสลัม ต่าง ๆ

ประเทศไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกว่าเป็นแหล่งการค้าประเวณีเด็ก  ดังนั้นเมื่อเกรแฮมรับรู้มาว่า  ท่านเคยจับประเด็นนี้มาก่อน  ก็เลยพุ่งความสนใจเป็นพิเศษ

“มีคนขอให้ทำ  ผมเคยทำหนังเกี่ยวกับโสเภณีมา 3 เรื่อง  ก็เลยมีคนบอกว่า งั้นลองทำเรื่องราวที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับโสเภณีเด็กสักบ้าง  แรก ๆ ก็มีคนไม่เห็นด้วย  กล่าวว่า เราจะส่งเสริมให้เด็กมาค้าประเวณี  หนังได้เงินในตอนนั้น”

เพราะเนื้อเรื่องช็อคคนดูหรือ? ท่านมุ้ย : “คนไม่ได้ช็อคกับสิ่งที่เห็นหรอก  เพราะทุกเวลา ทุกนาทีที่เราเดินอยู่ตามท้องถนน  คนไทยไม่เคยจำได้หรอกว่า เรามีโสเภณีเด็กอยู่ในสังคม  ผมไม่สนใจประเด็นธุรกิจการค้าประเวณีเด็กหรอก  แต่ผมสนใจสิ่งที่ทำให้เขาต้องมาทำอย่างนั้น”


 

สุริโยไท
“ผมมาทำ สุริโยไท เพราะสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ  ทรงมีรับสั่ง  ท่านถามผมว่า อยากทำหนังประวัติศาสตร์ไหม  ตอนแรกผมไม่อยากทำ  เพราะโปรเจ็คมันใหญ่เกิน  ก่อนหน้านั้นผมทำแต่หนังเล็ก ๆ มาก่อน  แต่ท่านก็ทิ้งท้ายให้ผมไปคิดอีกที

จากนั้นมา  ผมก็เลยเริ่มศึกษา  เริ่มเห็นว่ามันน่าสนใจ  เพราะยุคนั้นเป็นครั้งแรกที่ไทยได้พบกับโลกตะวันตก  โปรตุเกสเริ่มมาไทย  และไทยกับพม่าเริ่มมีปัญหากัน

การทำหนังเรื่องนี้  เต็มไปด้วยความยากลำบาก  ต้องวิจัยเยอะแยะไปหมด  อย่างฉากรบพม่า  ก็ใช้เวลาถึง 3 ปี”



Baz Luhrman และ Peter Jackson
เกรแฮมถามต่อในความสัมพันธ์ของท่านกับ Baz Luhrman และ Peter Jackson (Lord of the Ring) เกรแฮมเริ่มได้ยินกิตติศัพท์ของท่านจากปีเตอร์ แจ็คสัน และทีมงาน Lord of the Ring ขณะที่พวกไปทำสกู๊ปที่นิวซีแลนด์  พวกเขาต่างชื่นชมท่านมุ้ยจากผลงานเรื่อง สุริโยไท  กล่าวว่า ไม่เคยเห็นผู้กำกับใดในโลกที่มีความสามารถเท่าท่าน  ท่านสามารถถ่ายฉากรบทั้งฉาก  โดยไม่ใช้สเปเชี่ยลเอ็ฟเฟ็คเฃย

“Baz Luhrman มีโอกาสได้ดู สุริโยไท ขณะที่แวะมาเมืองไทยพอดี  จากนั้น Baz Luhrman ก็แนะนำเราให้รู้จักปีเตอร์ แจ็คสัน กับทีมงาน Lord of the Ring และ็ได้ให้ความช่วยเหลือมาตลอด  ทางโน้นก็ส่งคนมาสอนคน  ทางนี้ก็ส่งคนไปเรียน"

ท่านได้ไขความกระจ่างที่สามารถถ่ายฉากรบโดยไม่ใช้สเปเชี่ยลเอ็ฟเฟ็คได้  เพราะตอนนั้นยังไม่มีเทคนิคนี้ในเมืองไทย  ท่านจึงตัดสินใจใช้คนประมาณ 5,000 คน  และใช้กระจกมาช่วยในส่วนที่เหลือ บ้าง

แต่ท่านก็ใช้ช้างในฉากเป็นจำนวนมากเช่นกัน ?
ท่านมุ้ย : คนเลี้ยงช้าง ใช้ 60 เชือก  สุริโยไท ใช้ช้าง 100 เชือก และฉากยุทธหัตถี ใน นเรศวร 3 คงจะต้องใช้ถึง 200 เชือก   ช้างเหล่านี้ไม่ต้องฝึกเฉพาะ  ช้างพวกนี้ได้รับการฝึกฝนมาอยู่ก่อนแล้ว  ถ้ามีแต่เพียงควาญช้าง  ก็ถ่ายทำได้


 

นเรศวร : ท่านมุ้ยตอบข้อซักถามของเกรแฮมถึงเหตุผลที่ท่านตัดสินใจทำหนังประวัติศาสตร์เรื่อง นเรศวร ต่ออีก 3 เรื่อง  เพราะหนังมีเนื้อหาเกี่ยวกับการประกาศอิสรภาพของไทยที่เคยเป็นเมืองขึ้นพม่า 

เป็นหนังรักชาติ? : “ใช่ครับ  ก็เลยไปฉายเมืองนอกไม่ค่อยได้”

เสียงตอบรับจาก The King และ The Queen? : เสียงตอบรับจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ผมไม่ทราบ  ผมไม่เคยถามท่าน  แต่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ  ท่านตรัสว่าชอบ 

แต่คนที่ชอบมากก็คือ พระพี่นางเธอ  ท่านเคยตรัสว่าชอบมาก  ก่อนที่ท่านจะเสียชีวิต

ท่านคิดว่าเป็นการเสี่ยงหรือไม่ที่เลือกทหารมารับบทนำ
ท่านมุ้ย : ผมไม่คิดอย่างนั้น  ผมเลือกเขามาเล่น เพราะเขามีลักษณะเหมือนพระนเรศวรมหาราชอย่างมาก  เดี๋ยวคคุณจะได้เห็นเขาในฉากมะรืนนี้  คุณก็จะต้องรู้สึกว่า เขาหน้าเหมือนท่านมาก

อีกอย่างในเส้นทางกำกับของผม  ผมก็ใช้นักแสดงใหม่ตลอด  ผมไม่คิดว่ามันเป็นการเสี่ยง  ผมคิดว่ามันคุ้ม  เพราะเขามีพื้นฐานอย่างชายชาติทหาร  มีนักแสดงหลายคนที่รับบทเป็นกษัตริย์  แต่ก็เป็นการยากที่จะทำให้เขามีพื้นฐานอย่างทหาร 

แต่มันก็เสี่ยงอยู่ดี ?
ท่านมุ้ย : บางทีอาจจะเป็นเพราะผมโง่


 

เพชรพระอุมา
เกรแฮมได้ถามถึงโปรเจ็คต่อไปของท่านจะทำหนังประวัติศาสตร์ต่ออีกหรือไม่  ท่านตอบว่า ไม่เอาแล้ว  พอแล้ว  เรื่องต่อไป  ท่านจะทำ เพชรพระอุมา  ซึ่งเป็นเรื่องราวผจญภัย  คล้าย ๆ King Solomon และอาจจะมีถึง 3 ภาคอีก

ท่านมุ้ยขยายความในตอนนี้ว่า พนมเทียน เจ้าของบทประพันธ์ได้เขียนนวนิยายเรื่องนี้มานานกว่า 25 ปี  พวกเขาเข้าไปในป่าที่เป็นเขตแดนสนธยา และคนไทยทุกคนก็รู้จักตัวละคร  รู้จักเนื้อเรื่องกันหมด  รู้จักอาวุธที่เขาใช้   ตอนที่พนมเทียนเขียน  หนังมีไดโนเสาร์  เป็นสิ่งทีเกิดก่อนที่จะมี Jurassic Park ถึงสิบปี นวนิยายก็มีความยาวกว่า 40 เล่ม  ก็เลยอาจจะต้องมีอีก 3 ภาค

“ผมอยากทำเรื่องนี้มานานแล้ว  กว่า 30 ปี  แต่ตอนนั้นเราไม่ทันเทคโนโลยี  แต่ตอนนี้มีแล้ว  เราสร้างดิจิตัลที่นี่  ส่งคนไปเรียน  เรามีทุกอย่างแล้ว  ก็เลยคิดว่าจะทำ”

ก็พอหอมปากหอมคอนะคะ  อีกนานกว่าที่สารคดีชุดนี้จะฉาย  เพราะหลังจากประเทศไทยแล้ว  ทางทีมงานก็บินไปอิสราเอลต่อ  แต่ถ้าเราทราบข่าว  ก็จะแจ้งให้ท่านทราบค่ะ

(This interview was originally conducted in English and the printing here has been permitted only in Thai. Please do not translate any parts into other languages.)


   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.