สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   
วิจารณ์งานหนังของปราโมทย์ แสงศร
  อัญชลี ชัยวรพร   ©thaicinema.org
   
  สัมภาษณ์เส้นทางกำกับหนังของปราโมทย์
   
 

Fish Don’t Fly แม้จะเป็นผลงานเรื่องแรก แต่ปราโมทย์ดูจะชัดเจนในแนวทางหนังที่ตนเลือกเดิน Fish Don’t Fly แทบจะไม่มีบทสนทนา ปราโมทย์เลือกที่จะใช้ภาพและเสียง เล่าเรื่องราวของเด็กชายที่ถูกกระทำโดยผู้เป็นบิดา จนเด็กน้อยตัดสินใจเลือกหนทางชีวิตของตนบางอย่างในที่สุด   บางตอนของภาพยนตร์ดำเนินเรื่องโดยใช้ความเงียบเป็นตัวเล่าเรื่อง ก่อนที่จะตัดเข้ามาด้วยเสียงกระชับที่ฉับไว   ส่งผลให้การกระทำของตัวละครในเรื่องดูรุนแรงในอารมณ์มากขึ้น  

การใช้เสียง และความเงียบ   มีดนตรีและไม่มีดนตรีเป็นจังหวะที่ปราโมทย์ใช้เล่าเหตุการณ์การกระทำของตัวละครหลักตลอด   ซึ่ง กลายเป็นจุดเด่นของ Fish Don’t Fly ในทันที  

แม้การถ่ายภาพอาจจะดูธรรมดา แต่ปราโมทย์ก็ได้นำเทคนิคง่าย ๆ มาใช้ หนังเริ่มเรื่องโดยการใช้ภาพคลื่นโทรทัศน์ที่มีแต่เสียงซ่า   ดูเป็นการรบกวนจิตใจอย่างรุนแรง ก่อนที่จะปล่อยให้มันหายไป และใช้ความเงียบเป็นตัวดำเนินเข้ามาแทน วิธีการเหล่านี้ถูกนำมาใช้อีกครั้งในจินตนาการของเด็กชายเมื่อนึกถึงแม่ของตน

ท้ายที่สุดหนังมีการใช้ปลาเป็นสัญญลักษณ์   เพื่อเปรียบเปรยชีวิตอันขมขื่นของเด็กชาย แม้อารมณ์ของตัวละครจะไม่ออกมาชัดเจน แต่มันแสดงให้เห็นความเข้าใจของปราโมทย์ในการสื่องานภาพยนตร์ด้วยภาษาหนังขั้นปฐมบท

Bangkok 360 เป็นงานที่ปราโมทย์เน้นการเปิดเผยอารมณ์ของตัวละครมากเกินไป จึงทำให้หนังดูไม่แข็งแรงเท่า Fish Don’t Fly หนังเริ่มเรื่องจากการเดินทางบนรถไฟฟ้าของใครคนหนึ่ง อย่างช้า ๆ และเลื่อนลอย   ซึ่งยาวเกินไปในความรู้สึกของผู้เขียน   พร้อมทั้งมุมกล้องที่พยายามจับให้เห็นตึกรามบ้านช่องของกรุงเทพจากบนรถไฟฟ้า   จน อ่านออกได้เลยว่าโจทย์ในการทำหนังเรื่องนี้จะต้องเป็นการเล่าเรื่องของกรุงเทพอย่างแน่นอน

สิบนาทีหลัง ตัดภาพมาที่ชายหนุ่มคนหนึ่งร้องห่มร้องไห้ต่อหน้าหลุมฝังศพของใครคนหนึ่ง อารมณ์ความรู้สึกที่ออกมาชัดเจนมากเกินไป   ทำให้หนังดูเหมือนเมโลดราม่า ไม่ประสานกับครึ่งแรกของหนังที่ออกมาในเชิงทดลอง ซึ่งบางครั้งก็แสดงให้เห็นเจตนาที่ต้องการจะทำให้หนังมีลักษณะแปลกแหวกแนวมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นภาพรถไฟที่บิดเบี้ยว มุมกล้องที่จับนาฬิกาถึงสามเรือนบ้าง สิ่งเหล่านี้ล้วน ไม่จำเป็นเลย

จุดเด่นของปราโมทย์ในวิธีการเล่นกับเสียงของหนังก็ยังคงมีให้เห็น โดยเฉพาะความเงียบในรถไฟกับเสียงภายนอกเมื่อรถไฟเปิด  

Tsu เป็นงานหนังที่แสดงให้เห็นการเติบโตในการใช้ภาษาหนังของปราโมทย์อย่างเต็มที่   มันแสดงให้เห็นข้อได้เปรียบในการเป็นนักแสดงของเขา ในฐานะคนทำหนังสั้น   ปราโมทย์เติบโตพอที่จะรู้ว่ามิติของหนังสั้นนั้นมันเหมาะสำหรับการเล่าเหตุการณ์และอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครในช่วงสั้น ๆ ที่เรียกว่า a moment of time มากกว่าจะเล่าเรื่องยาว ๆ ซึ่งคนทำหนังสั้นไทยหลายคนมักจะให้ความสำคัญ จนทำให้เนื้อเรื่องยาวเกินไปสำหรับหนังสั้น Tsu เป็นการบันทึกอารมณ์ความรู้สึกของเด็กชายผู้สูญเสียครอบครัวไปในเหตุการณ์สึนามิ และพยายามประคับประคองจิตใจของตนเองด้วยการเตรียมป้องกันการกลับคืนมาของมหันตภัยธรรมชาติลูกนี้

ความโดดเด่นของ Tsu ดูจะชัดเจนที่สุดในการทำหนังทดลองที่เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกทั้งมวล ไม่ใช้เฉพาะความรู้สึกของตัวละครเพียงอย่างเดียว ด้วยพื้นฐานการเป็นนักแสดง   ปราโมทย์จึงเข้าใจว่า การที่เขาใช้ลองเทคกับภาพที่เด็กชายเดินกระเผลกไปตามชายหาดนานถึง 7- 8 นาทีนั้น   ท้ายที่สุดแล้วมันทำให้คนดูมีความรู้สึกร่วมกับตัวละคร   ความพยายามที่จะเดินต่อไปข้างหน้าในภาวะแห่งการสูญเสีย ผู้เขียนเห็นว่าการใช้ลองเทคตรงนี้กลายเป็นส่วนที่ดีที่สุดของ Tsu  หนังเต็มไปด้วยความเศร้า   เหงา   แต่มีกำลังใจที่จะเดินต่อไปข้างหน้า

แนวทางที่ปราโมทย์ใช้ใน Tsu  อาจจะเป็นสัญญลักษณ์ของปราโมทย์ต่อไปในอนาคตได้ดี   การผสมผสานภาษาหนังและการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของหนังทั้งมวล   โดยอาจจะเริ่มจากความรู้สึกของตัวละครอย่างพอเหมาะพอดี   ก่อนที่จะขยายมาสู่ตัวหนัง ผู้เขียนก็ได้แต่หวังว่า ปราโมทย์จะไม่หลงทางหันไปทดลองใช้ภาษาหนังมากเกินไป แต่ไม่รู้ว่าจะบอกอะไรเหมือนอย่างที่เห็นในคนทำหนังอินดี้หลายคน และไม่เน้นการแสดงอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครออกมาชัดเจนมากเกินไป อย่างที่เห็นใน Bangkok 360  ซึ่งก็ต้องดูกันต่อไปว่า ปราโมทย์สามารถจะรักษาได้ดีหรือไม่ในอนาคต

 

 

 
©thaicinema.org

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.