สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   
ปราโมทย์ แสงศร และงานของเขา
  อัญชลี ชัยวรพร   ©thaicinema.org
   
  วิพากษ์ผลงานของปราโมทย์ แสงศร
   
 
ปราโมทย์ แสงศร (เสื้อขาวอยู่หลังม่าน) เมื่อไปปรากฎตัวในฐานะผู้กำกับเป็นครั้งแรก 2545 คนที่อยู่ข้างหน้า คือ Amir Muhammad ซึ่งตอนนี้ก็เป็นผู้กำกับหนังอินดี้ชื่อดังของมาเลเซีย


2545 สิงคโปร์

เด็กหนุ่มผอมบางผู้หนึ่งเดินเข้าไปในสำนักงานเทศกาลหนังสิงคโปร์อย่างกระตือรือร้น สต๊าฟส่วนใหญ่ยังคงวุ่นวายกับงานที่ถาโถมเข้ามาใส่ในช่วงเทศกาล จนลืมสังเกตผู้มาเยือน

สักครู่ใหญ่ หลายคนเริ่มเงยหน้า  อมยิ้มกับแว่นดำเก๋เท่ระเบิดของเขา (ดูภาพ)  เกทับเสื้อยืดกางเกงยีนส์อันสุดติดดิน

“ผมปราโมทย์ แสงศร ครับ ”

…. ปราโมทย์ แสงศร เดินทางไปสิงคโปร์ในฐานะคนทำหนังเป็นครั้งแรก กับผลงานหนังสั้น Fish Don’t Fly ซึ่งเขาเริ่มทำขึ้นในปีก่อนหน้านั้น และหนังก็ได้รับเชิญไปฉายที่สิงคโปร์ทันที

“เขายังมีแววดาราอยู่ ” เตียวเสี่ยวหลี อดีตผู้อำนวยการเทศกาลกล่าวไว้ เมื่อผู้เขียนบอกเธอว่า ปราโมทย์เป็นนักแสดง

2549 ปราโมทย์เริ่มเดินทางอีกครั้ง และดูเหมือนว่าหนนี้ชีพจรของเขาจะยิ่งลงเท้ามากขึ้น กับผลงานหนังสั้นเรื่องที่ 3 Tsu หนึ่งใน โปรเจ็คหนังสั้นสึนามิ และเป็นหนังสั้นในชุดนี้ที่เดินทางไปต่างประเทศมากที่สุดก็ว่าได้

ตลอดเวลาห้าปี จาก 2545 – 2549 ปราโมทย์หันหลังให้กับชีวิตนักแสดง มาใช้ชีวิตเงียบ ๆ และง่าย ๆ ด้วยการทำหนังอินดี้   จาก Fi sh Don’t Fly จนถึง Tsu ์็เริ่มชัดเจนในหนทางที่เขาจะไป   จากงานเล่าเรื่องที่ไร้เสียง มาเป็นงานทดลองที่เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก งานที่แสดงให้เห็นรสนิยมในการดูหนัง และพื้นฐานการเป็นนักแสดงของเขา

ต่อไปนี้ คือ บางสิ่งบางอย่างจาก ปราโมทย์ แสงศร   … วันที่เงียบ ๆ แต่ฟ้าสีใส

อยากให้โมทย์เล่าเรื่องก่อนที่จะมาทำหนังเป็นของตัวเองสักนิด
ผมเรียนถ่ายภาพมาครับ แต่ก็ไม่ได้เรียนฟิลม์ ผมเรียนโฆษณาปริญญาตรีที่ศรีปทุม แต่ว่าผมได้มาจากการทำงานตั้งแต่อายุ 16 แล้ว ครับ เล่นหนังเรื่องแรก กลิ้งไว้ก่อนพ่อสอนไว้

สิบหกเองหรือ
16 ปี ครับ เล่นเป็นรุ่นน้องของพี่แท่ง แบบสั้นๆ โดนรุ่นพี่ตีหัว แล้วเข้าโรงพยาบาล

แล้วทำไมเราถึงมาทำหนังได้
ตอนแรก ผมไม่เคยคิดว่าจะมาสนใจด้านนี้นะครับ ผมว่ามันซึมซับมาเรื่อย ๆ ครับ ผมเรียนปริญญาที่ศรีปทุม เอกโฆษณา ส่วนใหญ่ก็จะเรียนการตลาด มาร์เก็ตติ้งอะไรอย่างนี้ ได้เรียนเขียนบทนิดหนึ่ง ส่วนใหญ่จะออกไปเรียนเอง

คือ ตอนนั้นเขาจะมีจัดเขียนบทอะไรสักอย่าง สอนพื้นฐานเขียนบท มีพี่ต้อม ( เป็นเอก รัตนเรือง) พี่สิน (ยงยุทธ ทองกองทุน) มีหลาย ๆ คนมาสอน ตอนนั้น EO TODAY เป็นผู้จัด เป็น ของแกรมมี่ ตอนนั้นผมอยู่อาร์เอสอยู่ ก็โดนผู้ใหญ่ว่าไปได้ยังไง แต่ผมก็ไม่สนใจเรียน เช้ามากด้วย แต่ผมอยากเรียนครับ เพราะที่อาร์เอสไม่มีสอนอะไรอย่างนี้ ผมอยากเรียนรู้เพิ่มขึ้นนะครับ ผมเรียนหมดล่ะครับ เรียนกับพี่ปีเตอร์ มนัส (ผู้กำกับ 999 ) ด้วย

โมทย์มาจากหนังกระแสหลัก พวกหนังคอมเมอร์เซียลทั้งหลาย แต่เวลาทำหนัง กลับเลือกไปทำอีกอย่างหนึ่ง เป็นอาร์ตมาก ทำไม
ไม่ทราบเหมือนกันครับ   อาจจะเพราะว่าอยู่กับหนังพวกนั้นมานาน   วิธีการเล่าเรื่องแบบนั้น  บางทีเราอาจจะมีความคิดว่า  น่าจะเล่าอีกแบบหนึ่งไหม เท่าที่ผ่านมา   การเล่าเรื่องของหนังจะออกในเชิงตลาดมาก    เอนเตอร์เทนคนดูในแบบให้เสพเพื่อฮือฮา พอดีมีจังหวะด้วยครับ คือ ผมได้ดูหนังที่ไม่ใช่หนังทำเงินมาก ๆ แบบฮอลลีวู้ด เรื่อง Trainspotting ได้ดูในโรงหนังที่อังกฤษ ช่วงปี 1994 – 1995 ประมาณนั้น ผมรู้สึกว่าคนดูก็มีอารมณ์ร่วมตาม เพราะว่าฉากที่มุดส้วม อ้วกทิ้ง มันก็ยังให้อารมณ์ ไม่ต้องมีพวกยิงกัน หรือเป็นแกงค์สเตอร์ รู้สึกว่าอันนั้นมันเป็นเรื่องแรกที่ได้ดู ชอบมาก ผมไม่เคยเจออารมณ์แบบนั้นมาก่อน


Fish Don’t Fly แม้จะเป็นผลงานเรื่องแรก
แต่ปราโมทย์ดูจะชัดเจนในแนวทางหนังที่ตนเลือกเดิน Fish Don’t Fly แทบจะไม่มีบทสนทนา
ปราโมทย์เลือกที่จะใช้ภาพและเสียง
เล่าเรื่องราวของเด็กชายที่ถูกกระทำโดยผู้เป็นบิดา

อ่านต่อ


พี่ดูหนังเรื่องนี้แทบฟังไม่ออกเลย ภาษาอังกฤษสำเนียงสก็อตแลนด์
ใช่ครับ ตอนนั้น ผมก็ว่าฟังยาก แต่เราก็ยังสนุกกับมัน แล้วหลังจากนั้นก็มาดูหนังแบบที่ไม่ใช่เป็นเมนสตรีมมาตลอด หนังที่เป็นแบบเหมือนได้อ่านหนังสือธรรมะ หนังที่ได้ดูแล้วได้คิด ได้มาสำรวจตัวเอง แบบว่าไม่ได้ดูเพื่อความบันเทิงเพียงอย่างเดียว จะชอบแบบแนวนั้น ๆ

ก่อน Trainspotting ไม่ได้ดูหนังแนวนี้เลยหรือ
ไม่ได้ดูครับ ถ้าเป็นฮอลลีวู้ดแล้วชอบสักนิด ก็จะเป็น Stand By Me เป็นหนังประเภทดราม่า

มีหนังเรื่องไหนที่ทำให้โมทย์เปลี่ยนความคิด ว่าต้องเป็นผู้กำกับ จะเรียกว่าหนังดลใจก็ว่าได้
The River ครับ

The River ของโรเบิร์ต เรดฟอร์ดหรือ
ไม่ใช่ครับ ของเฮียไฉ่หมิงเหลียง ดูวีดีโอ เพื่อนเอามาให้ดู

ทำไมชอบ
ผมไม่รู้ ผมว่ามันแบบมันสัมผัสได้ ดูแล้วว่ามันมีหนังอย่างนี้ด้วย แล้วทำไมถึงเข้าไปสำรวจตัวเองได้ มันเข้าไปกระทบเราครับ โดยไม่ต้องมีดนตรี ไม่ต้องมีอะไรแบบมาคอยเอนเตอร์เทนเรา มาคอยสร้างอารมณ์เรา ส่วนหนึ่งเพราะว่าผมคงเล่นหนังแบบเมนสตรีมมาเยอะแล้ว เล่นแบบที่ให้คนดูรู้สึก ได้เห็นชัด ๆ แล้วมันก็เป็นบล๊อกเดียวกันหมด บล๊อกของละคร ก็จะเล่นแบบนี้ตลอด แม้แต่ตัวผมเอง ช่วงหนึ่งก็จะเป็นแบบนั้น ไม่มีทางไปไหน

เพราะว่าบทที่ได้รับกับสไตล์การทำงานของผมก็จะเป็นอีกแบบ พอดูเสร็จแล้ว ทำไมต้องเล่นขนาดนี้วะ ทำไมต้องเป็นแบบนี้ บางงานก็จะไม่ค่อยชอบที่ตัวเองเล่น

แต่พอได้ดูหนังประเภทหลัง มันดูเป็นมนุษย์ ดูเป็นแบบสัมผัสได้ ดูไม่เหมือนกับเป็นเรื่องราวอะไร ไม่ดูเป็นพวกหนังซุปเปอร์สตาร์ อะไรแบบนั้น ก็เลยรู้สึกชอบ ผมคงชอบแบบนี้ครับ

ตอนนั้นก็ยังเป็นนักแสดงอยู่ อายุเท่าไร
เป็นอยู่ครับ ตอนดู Trainsporting น่าจะอายุประมาณ 19-20 The River น่าจะประมาณ 22-23 ปีครับ แต่ก็คงเป็นช่วงที่เปลี่ยนมุมมองเลยครับ เราสามารถเล่าเรื่องแบบนี้ได้ด้วยเหรอ ที่เราสามารถเขียนได้ แล้วก็ไม่ได้เปลี่ยนตัวเองไปมากเท่าไร เพียงแต่เป็นแบบที่เราเป็นจริง ๆ

2545 ที่สิงคโปร์ ขณะรอดูหนัง Fish Don't Fly ของตัวเอง

 

แล้วเราเริ่มจาก Fish Don’t Fly เลยหรือ
ก่อนหน้านั้น ผมถ่ายหนังไปแล้วเรื่องหนึ่งครับ เรื่อง Happy Birthday จ ะทำแบบ เควนติน ตารันติโน่ ดูไปแล้ว มันคล้าย ๆ Pulp Fiction เกี่ยวกับด้านมืดของคนที่ปล้นคนขับแท็กซี่ TAXI แล้วเกิดเรื่องราวขึ้นตามมา เพื่อจะเอาเงินไปให้น้องซึ่งกำลังท้องอยู่ ซึ่งดันท้องกับตัวพี่เอง แต่ทำไม่เสร็จครับ

ทำไมคะ
คิดว่ามันไม่ใช่ตัวเองครับ

แล้วมาเป็น Fish Don’t Fly ได้อย่างไร
ช่วงนั้นผมได้ไปงานมูลนิธิหนังไทยด้วยครับ ได้ไปดูหนังแต่ละปี แล้วก็อยากจะทำ เออ เราน่าจะสามารถเล่าเรื่องได้ อยากทำได้บ้าง พอได้มาดู The River ก็เป็นแรงบันดาลใจอีก แล้วที่มันเกิดเรื่อง Fish Don’t Fly เป็นเรื่อง เกี่ยวกับครอบครัว เพราะว่าผมสนใจเรื่องครอบครัว เรื่องแม่ กับพ่อ กับลูก ก็เลยลองเขียนเรื่องนี้ขึ้นมาครับ จริง ๆ มันมีส่วนจากชีวิตของเพื่อนด้วยสมัยเรียนมัธยม

Fish Don’t Fly ไปฉายประเทศอื่นบ้างไหม นอกจากสิงคโปร์
ไปครับ ส่วนใหญ่ไปฉายโชว์ ตอนนั้นผมยังไม่รู้ว่า จะเรียกว่าอะไรล่ะ ตอนนั้นไม่รู้ว่ามันจะส่งไปที่ไหนบ้าง ผมไม่รู้ว่ามันมีเวทีอะไรแบบนี้ที่ไหนบ้าง ตอนนั้นมันยังไม่มีเว็บไซต์ด้วย

หลังจากสิงคโปร์ หนังมันก็ไปฉายที่อังกฤษ ช่วงนั้นเป็นการไปอังกฤษครั้งที่สอง ตอนนั้นไปก็เพราะอยากไป มีพี่ไป ก็พักกับเขา แล้วก็ไปเจอในหนังสือว่ามีงานหนังสั้น ผมก็เลยให้เพื่อนส่งไป เดินเข้าไปหาที่เขารับว่ามันอยู่ที่ไหนอะไรอย่างนี้ครับ เหมือนเด็กบ้านนอกเข้ามาในกรุงเทพฯ ไม่รู้อะไรเลย เขาทำงานเหมือนกับสตูดิโอของอาร์เอส ผมก็แบบเดินเข้าไป ตามพนักงานเข้าไป พอเขารูดบัตรผ่านเสร็จ ประตูมันก็เปิด กำลังจะปิดอยู่แล้ว เหมือนในหนัง คือถ้าเราไม่หน้าด้านเข้าไปตอนนี้ ก็ไม่รู้ว่าเราจะเข้าไปถามเขาอีกเมื่อไร ผมก็เลยวิ่งเข้าไป ก่อนที่ประตูมันจะปิด เจอยามตัวใหญ่ ๆ ผิวดำ ยืนอยู่ แล้วผมก็ยื่นหนังสือ ถามไปว่าที่นี่ใช่ไหม ที่แบบรับสมัครอะไรอย่างนี้ เขาบอกว่า ไม่ใช่ แต่เขาช่วยบอกว่ามันอยู่ไหน ก็เดินไป ไปหาอีกที่หนึ่ง แล้วก็เจอ เป็นแบบอีกที่หนึ่ง ใกล้ ๆ ครับ เป็นสตูดิโอก็ยื่นหนังให้เขา

หลังจากนั้นทำเรื่องอะไรต่อ ในเวลาห้าปีหลังจาก Fish Don’t Fly โมทย์ทำหนังไม่กี่เรื่องเอง
ครับ ผมเรื่องที่ 2 อาจจะคล้าย ๆ ท่านมุ้ย ที่ทำตอนอกหัก (ก่อนหน้านั้น เราคุยเรื่อง ถ้าเธอยังมีรัก ซึ่งเป็นหนังที่ท่านมุ้ยตรัสว่าชอบมากที่สุด ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่ท่านทำขึ้นหลังจากที่ต้องเลิกรากับภรรยาคนแรก) แต่อันนี้จะเลอะเทอะ ยาว แค่ 7 นาทีเอง เพราะพอดีมันเป็นงานของพี่ภาณุ อารี มีโจทย์ให้ทำหนังเกี่ยวกับกรุงเทพ ชื่อว่า Bangkok 360 ที่เขาจัดงานมาสองครั้ง แต่ปีนี้ยังไม่เห็น พอดีมีโจทย์ให้มาแล้วสนใจทำมั้ย ก็เลยไปร่วมงานในงานนี้

 

ขณะถ่าย Tsu

 

ทำอย่างไรถึงได้มาทำ Tsu
ก็คือพี่ วิกเตอร์ (เกรียงศักดิ์ ศิลากอง จากเทศกาลหนังเวิล์ดฟิลม์แห่งกรุงเทพ และเป็นโปรดิวเซอร์ของหนังชุดนี้) ครับ พี่ วิกเตอร์มีโปรเจ็คหลังจากเกิดเหตุการณ์สึนามิพอดีครับ จริง ๆ แล้วเหมือนผมได้เข้าไปแทนผู้กำกับใครสักคนหนึ่งแหละครับ รู้สึกจะเป็นพี่วิศิษฎ์ หรืออะไรสักอย่างหนึ่งแหละครับ เหมือนเขาบายโปรเจคนี้ไป แล้วต้องหาใครคนหนึ่งมาแทน

แล้วเขาให้เวลาเท่าไร
เร็วมากครับ ต้องการคำตอบแบบว่าจะทำไหม แต่ว่าโปรเจ็คมันยังไม่เริ่มนะครับ แต่เขาอยากได้คำตอบ ว่าสนใจไหมก่อน เหมือนเข้าไปเป็นคนสุดท้าย แล้วเขาก็มีเงินทุนให้อะไรอย่างหนึ่งครับ

ได้ไอเดียทำเรื่อง Tsu มาจากไหน
หลังจากนั้นก็ให้รีเสริ์ชข้อมูล ข่าวเก่าที่ลงตามอินเตอร์เน็ตต่าง ๆ หรืออะไรสักอย่าง ผมอ่านเกือบจะทุก ๆหัวข้อครับ ทุกหน้าของมัน เยอะมากครับ แล้วก็ไปได้ไอเดียมาจากตรงนี้ครับ คือ โปรเจคนี้มันเกิดหลังจากสึนามิ 6 เดือน แล้วรัฐบาลก็พยายามบอกว่าทุกอย่างมันดีอยู่แล้ว สร้างภาพพจน์แหละครับ แต่คนในพื้นที่จริง ๆ เป็นอีกอย่าง

มีคำ ๆ หนึ่งที่โดนใจผมมาก เขาบอกว่าเขาอยากให้สึนามิกลับมาอีกครั้งจะดีกว่า ที่จะให้มีชิวิตอยู่กับบ้านที่มันไม่ใช่บ้านที่ควรจะเป็น บ้านแบบโรงจอดรถ เข้าไปแล้ว ลูกหลานไม่มีสัดส่วนครับ ไม่สามารถจอดเรือประมงได้ ที่เขาจะทำมาหากิน เพราะเรือที่ทำให้มันจอดห่างจากบ้าน ห่างจากฝั่ง หลายกิโลครับ 5 กิโลเลย เขาบอกว่า ตอนนี้มันไม่มีชีวิตเหมือนเดิมครับ มันก็เลยเกิดเป็นเรื่องอย่างนี้ พอยท์ของมันก็ต้องการบอกว่าอยากให้สึนามึกลับมาอีก

แล้วทำไมเสนอให้เด็กคนหนึ่งค่อย ๆ เก็บของไปเรื่อย ๆ ทำไมถึงให้เป็นหนังทดลอง
จริง ๆแล้วไม่ได้ตั้งใจจะเป็นทดลองหรือไม่ทดลอง ผมทำให้เป็นหนังเล่าเรื่องครับ คือตอนที่ผมเขียน มันจะมีเรื่องราวเป็นแบบละครเลย แต่ผมตัดส่วนที่เป็นพวกรูปธรรมออกไปทั้งหมด พวกคนส่วนใหญ่ หนังส่วนใหญ่จะทำให้เห็นว่ามันต้องเป็นมัน คือเห็นแต่รูปธรรม คือไม่ต้องไปคิดอะไรแล้ว ผมอยากให้มันเป็นแบบนามธรรมมากขึ้น คือไม่ได้คิดให้มันเป็นสัญญลักษณ์ ให้คนดูได้คิด คิดอะไรบ้างน่ะครับ

ไปถ่ายที่ไหน
งบไม่พอ ไม่ได้ไปถ่ายภาคใต้ ถ่ายที่ปราณบุรี ก็ไปดูโลเคชั่น ไม่ได้ทำงานแบบสั่ว ๆ ครับ คือหนังสั้นก็ทำให้มันดีได้ในงบประมาณที่เขาให้มา แบบไม่ให้พวกหนังใหญ่ดูถูก ก็ทำงานเหมือนที่เราทำเป็นผู้ช่วย เป็นคนที่จะต้องดูว่า เมฆมันต้องมาเมื่อไร ฝนมันจะตกไหม วันที่จะไปอะไรบ้าง ลมมันจะพัดธงปลิวหรือเปล่า คือจะเป็นสิ่งที่เราคุยกันก่อนครับว่าจะใช้อุปกรณ์อะไร มีการเซ็ตบ้างเพียงบางฉาก คนถามว่ามันเซ็ตทั้งหมดไหม ก็ไม่ทั้งหมดล่ะครับ บางคนยังงงว่ามันมีอยู่แล้วเหรอ แต่จริง ๆ แล้วก็คือเราทำงานกันแหละครับ ก็เป็นทีมที่ได้ผู้ช่วย ได้อาร์ตที่ดีครับ

มีคนทำงานทั้งหมดกี่คน
ก็เป็นทีมเล็ก ๆ ครับ แต่ว่าทีมหลังก็เคยทำหนังใหญ่มา เพื่อน ๆ ก็เป็นผู้ช่วยหนังไทยเรื่องอื่น ๆ มาก่อน เขาทำงานมากันหนักพอสมควร งานอาร์ตไดก็หนัก

ใครถ่ายภาพ
ผมถ่ายเองครับ

ตัวเราทำอะไรบ้าง
ก็เขียน ถ่าย แล้วก็กำกับ ตัดไม่ครับ ตัดจะเป็นเพื่อน อีกคน

เลือกดารานักแสดงเด็กจากที่ไหน
มาจากแถวบ้านรัชตะ พี่รู้จักบ้านรัชตะไหมครับ อยู่ในกรุงเทพครับ เป็นบ้านศิลปะ อยู่ใกล้สะพานพระราม 8

ตรงซอยสามเสน ซอย 5 เป็นบ้านศิลปะ แบบมีกิจกรรม อย่างเช่นกิจกรรมในชุมชนให้เด็กสอนวาดรูป แล้วพอดีวันนั้นผมไปเรียนแอนิเมชั่น มีฝรั่งมาสอนด้วย เป็นอาจารย์จากฮอลแลนด์อะไรทำนองนี้ละครับ ไปเรียนแล้วก็มีเด็กมาเรียน ได้เจอเด็กคนนี้ที่นั่น พี่ที่นั่นแนะนำให้รู้จัก ก็เลยลองมาแคสติ้งดู ก่อนหน้านั้นหานาน เหมือนกันแหละครับ ที่จะให้เหมือนไปทางภาคใต้

ที่เกาหลีใต้
                                           ที่ไต้หวัน

 

ตอนนี้หนัง Tsu เดินทาง ไปกี่ประเทศแล้ว
ก็มีเกาหลีไปที่ปูซาน ซึ่งได้รางวัลสถาบันอะไรสักอย่างหนึ่งครับ แล้วก็ไปโซล งานของ Asiana Short Film Festival แล้วก็ได้รางวัลหนังทดลองที่ไต้หวัน ส่วนทางยุโรป ไปประกวดที่เวนิซครับ เทศกาลหนังสั้นเวนิซ คนละอันกับเทศกาลใหญ่นะครับ

กับทีมงาน แสงศตวรรษ ที่เวนิซ ซึ่ง Tsu ได้ไปร่วมงานในเทศกาลหนังสั้นเวนิซ อีกเกาะ

ถ่ายรูปกับ ศักดา แก้วบัว ที่เวนิซ (พระเอกขาประจำในหนังของอภิชาติพงศ์)

 

ไปรู้จักเทศกาลหนังสั้นเวนิซนี้ได้อย่างไรคะ
อันนี้เสริช์ทางอินเตอร์เน็ตดูครับ ผมก็ลองส่งดู เพราะว่าผมก็ไม่แน่ใจว่ายังไง ผมก็ลองส่งดู แล้วเขาก็ตอบกลับมาว่าสนใจ จัดเป็นครั้งที่ 7 แล้วครับ จัดพร้อมกับเวนิซ แต่อยู่คนละเกาะกับเทศกาลใหญ่ เป็นการประกวดทั้งหมดครับ

เราเรียนรู้ทุกอย่างรอบตัวเลยนะ แต่พื้นฐานของการเป็นนักแสดงมีส่วนช่วยในการทำหนังมากน้อยแค่ไหน
ประสบการณ์ในการทำงานก็คงช่วยครับ แต่ผมว่ามันช่วยในเรื่องของการรู้จักคนมากกว่าครับ ไม่ต้องพูดถึงการเล่าเรื่องหรือไม่เล่าเรื่อง หรือว่าจะได้อะไร จะเหนือกว่าคนอื่น ผมว่ามันคือการเรียนรู้สังคม ทำให้รู้ จัก ชีวิตมากขึ้นแค่นั้นเองครับ เหมือนกับอยู่ในกรอบอีกกรอบหนึ่ง แล้วตอนนี้ผมแค่ออกมาอีกกรอบหนึ่ง แบบที่เรารู้สึกแฮปปี้กับมัน เป็นจุดที่เรียนรู้  อาจจะเป็นเหมือนงานประจำก็ได้ที่ทำอยู่ในวงการ

ที่แสดงหนังแสดงละครมาสิบกว่าปีได้ นานครับ นานมากแล้ว ก็คิดว่ามันให้เราเรียนรู้ รู้จักคน รู้จักการใช้ชีวิต เพราะว่าตอนนั้นผมก็ไม่มีอะไร นอกจากไปเรียนหนังสือ กลับบ้าน อันนี้ที่ทำให้รู้จักกับคนมากขึ้นครับ รู้จักคนนั้นเป็นอย่างนั้น คนนั้นเป็นอย่างนี้ ครับ วงการนี้เป็นอย่างนี้ครับ

ตอนนี้มีโปรเจ็คอะไรทำต่อคะ
ก็มีโปรเจ็คของกระทรวงวัฒนธรรม ก่อนหน้านั้นเขาเรียกไปเสนอบทหนังสั้น เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของในหลวง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เขาจะเลือกมา 10 เรื่อง แล้วก็อาจจะเลือกเรื่องใดมาทำอีกที

เรื่องที่ผมเสนอ จะเกี่ยวกับครอบครัวหนึ่งในหมู่บ้าน เป็นเรื่องของพ่อที่สูญเสียลูกไป แล้ววันหนึ่งลูกกลับมา แล้วก็จะมีพระราชกรณียกิจเรื่องน้ำ พระราชกรณียกิจของในหลวงเข้ามาเกี่ยวข้อง มีเรื่องกลับชาติมาเกิดด้วย ผมอยากนำเสนอว่า ไม่ให้เราจมอยู่กับความคิดเรื่องเก่า ๆ แต่ไม่แน่ใจว่าจะได้ทำหรือเปล่า ตอนนำเสนอ ในเรื่องมันมีตัวเงินตัวทองด้วย ซึ่งกรรมการเขาบอกว่าเป็นสัญลักษณ์ของความไม่ดี รู้สึกว่ามีเฉพาะพี่โดมที่เห็นด้วยกับผมอยู่คนเดียว

แล้วโปรเจ็คหนังใหญ่ล่ะคะ
ตอนนี้ทำโครงเรื่องเสร็จแล้วครับ เป็นหนังรัก ก็เริ่มไปเสนอตามที่ต่าง ๆ แล้วครับ

 

 

 
©thaicinema.org

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.