กว่าจะมาเป็นคนทำหนัง และชีวิตในเมืองนอก
อาทิตย์เริ่มไปเติบโตที่ต่างประเทศเมื่ออายุได้ 15 ปี โดยอายุประมาณ 18-19 ก็เรียนปริญญาตรีด้านประวัติศาสตร์ที่นิวยอร์ค เหตุผลที่เขาเรียนประวัติศาสตร์ แทนที่จะเรียนภาพยนตร์แต่แรก เพราะว่าตอนนั้นเขายังไม่ได้สนใจหนัง เขาไม่ใช่คนที่อายุแค่ 5 ขวบก็รู้แล้วว่าตัวเองต้องการเป็นผู้กำกับ แต่เป็นแค่เด็กเหมือนเด็กทั่วๆไป เขาเรียนเพราะคิดว่าวิชาประวัติศาสตร์มันเป็นมรดกของโลก มันเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดเนื้อหาของวิชานี้ก็ครอบคลุมชีวิตของเราทุกคน
ถามว่าทำไมถึงเรียนประวัติศาสตร์? ผมคิดว่าประวัติศาสตร์มันเป็นการเล่าเรื่องอย่างนึง คือผมอ่านหนังสือมาเยอะน่ะ ผมอ่านเรื่องประวัติศาสตร์มาเยอะ ผมเลยเห็นว่ามันเป็นการเล่าเรื่องน่ะ และช่วงนั้นผมมีโอกาสได้ไปเที่ยวยุโรป คือนั่งรถไป แบ็คแพ็คอะไรแบบนั้นน่ะ ไปช่วงซัมเมอร์อยู่สามเดือน ไปหลายประเทศน่ะ ยุโรปเป็นทวีปหนึ่งของโลกที่มีความเก่าแก่ ที่มีประวัติศาสตร์เยอะ ตอนนั้นผมคิดว่าเรียนประวัติศาสตร์ก็น่าสนใจ และชีวิตของผมในตอนนั้นต้องเลือกแล้วว่าจะเรียนอะไร ก็เลยมาคิดว่า เรียนวิชานี้ก็แล้วกัน ไม่ได้คิดอะไรมาก คิดว่ามันเป็นฐานที่จะช่วยให้เราเข้าใจโลกได้ดียิ่งขึ้น คิดว่ามันน่าสนใจ
อาทิตย์หันมาสนใจหนังระหว่างเรียนปริญญาตรี เพราะที่นิวยอร์คมีหนังให้ดูเยอะมาก เวลาที่ใช้ชีวิตอยู่ที่นั้น เมื่อว่างไม่มีอะไรทำเขาก็จะไปดูหนัง แล้วเขาก็เริ่มดูหนังลึกขึ้น ดูหนังรูปแบบที่มากกว่าคนส่วนใหญ่จะดูกัน คือดูในแง่ของการเขียนบท หรือการถ่ายทำว่าเขาถ่ายทำยังไง และในช่วงที่เรียนปริญญาตรี อาทิตย์ก็เป็นนักเขียนด้วย สำหรับเขา การเขียนก็คือการเล่าเรื่องอย่างหนึ่ง เขาเขียนเรื่องเขียนบทต่างๆ เมื่อเขียนบทเขาก็เกิดความคิดว่า บทที่เขียนขึ้นมาก็ไม่อยากให้ใครอื่นมาทำ เมื่อรวมเข้ากับความชอบหนัง อาทิตย์ก็ตัดสินใจพาตัวเองไปสู่การศึกษาด้านภาพยนตร์ในระดับปริญญาโทที่แคลิฟอร์เนีย แต่เขาก็ไม่ได้หวังว่าตัวเองจะได้ทำหนัง ได้เป็นผู้กำกับแบบเป็นเรื่องเป็นราว
มอเตอร์ไซคล์ หนังสั้นของอาทิตย์
หลังจากทำหนังธีซิส(มอเตอร์ไซคล์) ซึ่งเขากลับมาที่เมืองไทยมาทำเรื่องนี้ พอเรียนจบเขาก็อยู่ที่ซานฟรานซิสโก้อีก 6 เดือน มันก็เป็นหนังสั้นเรื่องแรกที่สมบูรณ์ของผมนะ และในวงการบ้านเราตอนนั้นมันก็ไม่มีใครทำหนังสั้น ตอนนั้นมันเป็นช่วงเวลา 6 เดือนนั่นน่ะที่ทำหนังเรื่องนั้นเสร็จแล้วก็ได้เรียนรู้เกี่ยวกับวงการหนังสั้น หรือวงการหนังที่มันอยู่นอกกระแส ที่มันทำเสร็จแล้ว แล้วเอาไปทำอะไร หนังสั้นเราได้ไปฉายก็ต้องเดินทางไปพูด ได้ไปคุยกับผู้ที่สนใจจะซื้อหนัง เขาก็บอกว่าจะเอาไปฉายที่เคเบิ้ลทีวีออสเตเลีย เราก็รู้สึกดีน่ะ
คือสมัยนั้นมันไม่ค่อยมีใครรู้หรอก ทำเสร็จแล้วเขาก็เอาไปให้เพื่อนดู ดูกันในกลุ่มเล็กๆ แต่เราทำเสร็จก็ไปค้นหาในเว๊ป ไปเจอเทศกาลหนังเยอะแยะน่ะ ก็ลองส่งไปดู แล้วช่วงนั้นอย่างที่บอกมันไม่มีหนังสั้นจากไทยน่ะ มาถึงจุดนี้แล้วมองย้อนกลับไป ถามว่าหนังสั้น มอเตอร์ไซคล์ มันดีไหม? ผมคิดว่ามันก็ไม่ได้ดีมาก เพียงแต่ว่ามันไม่มีอะไรอื่นน่ะ ก็คือมันมีน้อยจนราวกับว่า..เหมือนมีตำส้มตำที่อเมริกาน่ะ มันเป็นร้านส้มตำร้านเดียว คนก็เข้ามากินกันน่ะ ส้มตำอาจจะไม่ได้อร่อยอะไรแต่มันเปิดที่เดียวน่ะ ผมเคยคุยกับทีมงานของเทศกาลหนังสั้นแคลมองต์ แฟรองต์ ซึ่งเห็นว่าหนังของเขามันเด่นมากเลย และเขาก็บอกว่าไม่เคยมีหนังจากประเทศไทย ผมรู้เลยว่าเขาหมายความว่าอะไร ส่วนตอนนี้ อาทิตย์คิดว่าวงการหนังสั้นพัฒนาขึ้น มีส้มตำหลายร้านผุดขึ้นและก็อร่อยขึ้น
ตอนที่มอเตอร์ไซคล์ได้รับความสนใจ อาทิตย์เริ่มเห็นว่าหนังสั้นสามารถเป็นสินค้าได้ มันเป็นสินค้าที่มีมูลค่า เขาเอาไปทำอะไรได้ และในเวลาเดียวกันมันเป็นงานศิลปะที่เป็นตัวเอง มันมีทั้งสองฝั่งน่ะ หนังมันเป็นทั้งศิลปะและเอาไปค้าขายได้ในเวลาเดียวกัน
ก้าวแรกในเมืองไทย ในฐานะคนทำเอ็มวีและโฆษณา
เมื่อเริ่มกลับมาอยู่เมืองไทย อาทิตย์ก็ยังทำหนังสั้นไปเรื่อยๆ แล้วก็ทำมิวสิควีดีโอ พอดีเรามีเพื่อน(วง พรู ) ก็ไปทำให้กับทางเบเกอรี่เป็นส่วนใหญ่ และเขาก็ทำโฆษณา ซึ่งเขายอมรับว่าก็เริ่มต้นการทำงานเหล่านี้แบบงูๆ ปลาๆ ต้องอาศัยเรียนรู้ผ่านการทำไปเรื่อยๆ
อาทิตย์ไม่กลับมาแล้วกำกับหนังยาวเลย เพราะเขารู้สึกว่าตัวเองยังไม่พร้อม และยังไม่มีประสบการณ์ที่จะทำหนังยาวเพราะยังไม่เคยทำมาก่อน ส่วนเหตุผลอีกอันหนึ่งที่เขาไม่ได้เริ่มทำหนังก็คือ ต้องเข้าใจระบบในบ้านเราด้วย การทำหนังในเมืองไทย ต้องทำงานกับผู้คน มันต้องมีการบริหารคน บริหารการถ่ายทำ อะไรแบบนี้ คือเรายังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ไม่ว่าจะหนังสั้นสามนาทีหรือหนังยาวสามชั่วโมง มันมีระบบการทำงานที่ต้องเรียนรู้น่ะ ระบบการทำงานในเมืองไทยก็ไม่เหมือนระบบทำงานแบบเมืองนอกที่เราเจอมา แล้วกลับมาเราก็ยังไม่รู้จักใคร ก็ต้องหาทีมก่อน จนกว่าจะมารู้จักพี่เจ้ย(อภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล)เหวย(เจษนิพิธ ธีระกุลชาญยุทธ),ทองดี (โสฬส สุขุม-ที่ปัจจุบันเป็นโปรดิวเซอร์คู่ใจ),เต่านา (ม.ล.มิ่งมงคล โสณกุล) ก็เริ่มเข้าใจว่ามีพวกนี้นะที่ทำหนังอิสระกันอยู่ พวกนี้เป็นรุ่นบุกเบิก ก็ได้ใช้เวลารู้จักและทำงานร่วมด้วย และทำให้ได้รู้ว่าระบบการทำงานมันเป็นอย่างไร และสำหรับอาทิตย์ การกลับมาอยู่ประเทศไทย เขาต้องเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมด้วย เพื่อให้สามารถปรับตัวและใช้ชีวิตอยู่ได้ รวมถึงค้นหาตัวตนของเขาด้วย ทุกอย่างจึงต้องใช้เวลา แต่ประสบการณ์ที่ได้ร่วมงานกับหลายๆ คนและได้เรียนรู้ความเป็นไทย ก็สามารถสร้างความพร้อมให้แก่เขา และนำเขาไปสู่การสร้างหนังสั้นมากมาย
เส้นทางความฝันของอาทิตย์
เมื่อพูดคุยกันถึงเรื่องของบริษัทของเขา อาทิตย์บอกว่าบริษัทนี้ตั้งใจจะรับงานจิปาถะทั่วไป เช่น รายการทีวี ดรีมเซสเซอร์ : ซิ่งล่าฝัน ซึ่งเป็นรายการที่สุกี้ วงพรู( กมลสุโกศล แคลปป์) ขี่มอเตอร์ไซคล์ออกไปท่องเที่ยวตามที่ต่างๆ หรือจะมิวสิควีดีโอหรือโฆษณา เขาคิดว่ามันเป็นระบบการทำงานที่จำเป็นเพื่อให้บริษัทของเขาอยู่ได้ มันก็มีงานเข้ามาเรื่อยๆ ถ้ามีเวลาว่างและพร้อมก็จะทำหนัง
อาทิตย์บอกว่าเขาสนุกกับการทำรายการโทรทัศน์ หลังจากที่ไม่เคยลองทำมาก่อน เมื่อมีโอกาสได้ทำก็ทำ และมันก็สนุกเกินกว่าที่เขาคาดคิดไว้ และเป็นงานที่ต้องมีวินัย เพราะมีกำหนดการส่งเทปให้แก่สถานี ทำให้ต้องวางตารางการทำงานให้ดีๆ ทำให้เขาคิดอีกแบบต่างจากเวลาทำหนังอิสระที่อยากนอนเมื่อไหร่ก็นอน ไม่ได้แปลว่าเขาไม่ชอบการทำงานที่เป็นระบบ แต่มันได้ให้โอกาสเขาได้ทำงานในอีกแบบหนึ่ง ซึ่งดูเหมือนเขาจะพูดถึงการมีความรับผิดชอบที่มากขึ้น และการเติบโตขึ้นในฐานะของคนที่ต้องทำงาน
มันทำให้มีรายได้ตลอดเวลานะทีวี แล้วก็ทำให้เราปลีกเวลาไปทำหนังได้
แต่ถ้าหากมีคนหยิบยื่นข้อเสนอให้อาทิตย์ทำหนังตามตลาด เขาก็จะคิดหนักทีเดียว ทำหนังเพราะอยากแสดงอะไรบางอย่าง แต่ว่า...ผมคิดว่าโดยธรรมชาติของผม ผมคงไม่เหมาะกับแบบนั้น ผมไม่ได้ชอบหนังแบบนั้น แต่ว่าทำกับค่ายอะไรแบบนี้...ทำในระบบค่ายน่ะ เอา มันง่ายกว่าตั้งเยอะ และผมไม่เข้าใจด้วย อย่างหนังตลกในบ้านเราน่ะ คือคนที่ทำหนังพวกนี้ เขาโตมากับชิงร้อยชิงล้าน(รายการทีวี) โตมากับวัฒนธรรมคาเฟ่น่ะ คือตอนผมดูผมชอบนะ ผมยอมรับอะไรใหม่ๆ ดูแล้วก็อ๋อ มันตลกที่ชาวบ้านเขาชอบกัน ทำให้ผมได้เรียนรู้อะไรเยอะเลย แต่ว่าถ้าให้ผมทำเองผมคงไม่เหมาะ
ตัวตน ความคิด และวันข้างหน้า
แต่ในความรู้สึกของชายหนุ่มวัย 34 ปีอย่างอาทิตย์ เขาคิดว่าตัวเองเป็นนักเขียนได้ดีกว่าผู้กำกับ เพราะการเขียนนั้นสามารถฝึกฝนได้ง่ายกว่า ต้องการแค่ความคิดของเรากับกระดาษและดินสอ ผมคิดว่าการทำหนังหรือทำอะไรมันเหมือนกับกีฬา มันต้องการการฝึกฝนตลอดเวลา แบบว่ายน้ำก็ต้องว่ายน้ำทุกอาทิตย์ ก็ต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ ตลอดเวลา แต่ว่ากำกับหนังมันไม่ค่อยได้ฝึก อย่างตัวผมไม่ได้กำกับเป็นอาชีพกับค่ายยักษ์ใหญ่ ซึ่งจะได้ทำหนังอยู่เรื่อยๆ ถ้าคุณอยากจะเป็นนักกีฬาอาชีพคุณต้องฝึกซ้อม
กับคำถามที่ว่า การทำหนังไทยต้องแสดงความเป็นไทยหรือไม่ อาทิตย์คิดว่า อย่างผม ผมไม่ได้มีหน้าที่แสดงความเป็นไทยน่ะ ผมมีหน้าที่ๆ จะแสดงความเป็นตัวของตัวเอง
อาทิตย์เล่าถึงอนาคตในการทำหนัง อย่างเช่นกับโปรเจ็คท์ Sideline นั้นก็ยังเก็บเอาไว้และถ้าจะทำก็
สามารถทำเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะอาทิตย์ได้ดูโลเคชั่นสำหรับหนังเรื่องนี้ไปบ้างแล้ว แต่ก็ต้องดูเรื่องความพร้อมในการทำด้วย และเขาก็ไม่ได้คิดถึงการไปทำหนังในฮอลลีวู๊ดเพราะเห็นว่าใหญ่ไปสำหรับเขา และเขาก็จากอเมริกามา5 ปีแล้ว เขาเริ่มเคยชินกับสภาพแวดล้อมและรักประเทศไทยอย่างถอนตัวไม่ขึ้น
|