สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   
อินดี้ไทยแข็งขัน เตรียมบุกตะลุยตลาดหนังไทย
  อัญชลี ชัยวรพร และ ณัฎฐ์ธร กังวานไกล รายงานแบบอินดี้   / 28 สิงหาคม 2550
  ©thaicinema.org
  LINK : คนอินดี้เบื้องหลังที่น่าจับตามอง
   
 


ขณะที่ค่ายหนังใหญ่ในบ้านเรา ยังคงเน้นแผนที่จะสร้างหนังเพื่อกวาดรายได้ลูกเดียว หรือที่ฝรั่งเรียกกันว่า หนังกลุ่ม genre film ซึ่งถ้าเป็นบ้านเราก็จะวนเวียนอยู่กับ 3 ประเภทหนังที่นิยมตลอดกาลอย่าง หนังผี หนังตลก หนังบู๊ (สมัยก่อนจะมีหนังชีวิตด้วย) ส่งผลทำให้ดาราตลกกลายเป็นผู้กำกับชื่อดังแห่งยุค และผู้กำกับหน้าใหม่หลายคน ซึ่งไม่มีสิทธิ์ต่อรอง ก็ต้องรับโจทย์บังคับอย่างหนังผี ผี และ ผี จนทำให้เมืองไทยได้รับการกล่าวขวัญว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ทำหนังผีได้ดีล่าสุด

แต่เผอิญผู้กำกับอีกหลายคน เขาเป็นโรคกลัวผี ชกต่อยไม่เป็น และไม่เส้นตื้น ก็เลยต้องหันมาออกทุนทำหนังเองบ้าง ขอทุนบ้าง ส่วนใหญ่ก็จะได้แต่หนังสั้นหรือหนังสารคดีเล็ก ๆ ตามนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง จะมีก็แต่ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เท่านั้น ที่มีสิทธิ์ต่อรองมากกว่าเพื่อน หรือ มล. มิ่งมงคล โสณกุล ที่ลงทุนทำหนังในนามบริษัทเดทดิเคท ด้วยสารคดีเรื่อง มะหมี่ ก่อนที่จะหมดแรง หันไปร่วมลงทุนกับหนังสตูดิโอค่ายอย่าง มหาลัย … เหมืองแร่ กับ แฝด

อย่างไรก็ตาม ปีนี้กลุ่มคนทำหนังอินดี้เริ่มแข็งขันขึ้น เพราะนอกจากจะลงทุนทำภาพยนตร์เรื่องยาวกันยกใหญ่ ดังที่ thaicinema.org ได้ตามสัมภาษณ์ไปจนเกือบหมดแล้วนั้น (ตามอ่านได้ที่ indie corner) หลายคนก็แสดงให้เห็นว่า พวกเขาเริ่มเอาจริง ก่อตั้งบริษัทกันยกใหญ่ มีโครงการผลิตหนังจำนวนมาก


พิมพกา โตวิระ กับบริษัทเอ็กซ์ตร้า เวอร์จิ้น


เป็นที่รู้จักกันในฐานะผู้กำกับชื่อดังจากผลงานอย่าง คืนไร้เงา ที่เธอทำงานร่วมกับสตูดิโอใหญ่ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ หลังจากนั้นก็เลยหันมาทำหนังสั้นบ้าน สอนหนังสือบ้าง ควบคู่ไปกับหนังสารคดีเรื่อง The Truth Be told : The Case Against Supinya Klangnarong ซึ่งติดตามชีวิตของสุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ถูกบริษัท ชินคอร์เปอเรชั่นฟ้อง และกลายเป็นผลงานชิ้นแรกของบริษัทชื่ออันแสนจะเซ็กซี่นี้

พิมพกา ตั้งบริษัทเอ็กซ์ตร้า เวอร์จิ้น ร่วมกับเพื่อนสนิท หนึ่งในนั้นได้แก่ เมย์ เมฆสวรรค์ ซึ่งเคยทำงานกับเทศกาลหนังกรุงเทพมาตลอด นอกจากนี้ บริษัทยังมีโครงการภาพยนตร์เรื่องยาวที่กำลังพัฒนาและกำลังสร้างอยู่หลายเรื่อง ได้แก่

Agarian Utopia กำกับโดย อุรุพงษ์ รักษาสัตย์ (เรื่องเล่าจากเมืองเหนือ) ภาพยนตร์สารคดีเชิงทดลองที่ติดตามชีวิตของชาวนาในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงราย เป็นเวลาหนึ่งปีนับแต่เริ่มต้น จนถึงจุดจบของฤดูการทำไร่ โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนฮิวเบิร์ต บาลส์ ของเนเธอร์แลนด์ และสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย   อ่านรายละเอียดได้ที่นี่

The Island Funeral กำกับโดย พิมพกา เล่าเรื่องการเดินทางของหญิงชาวมุสลิมชาวกรุงเทพ ที่ตั้งคำถามถึงบทบาทความเป็นตัวตนของเธอที่ถูกกำหนดโดยบริบทของศาสนาและสังคม อันนำไปสู่การตัดสินใจขับรถไปยังภาคใต้ ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมงาน Pusan Promotion Plan ในเทศกาลภาพยนตร์ปูซาน อ่านรายละเอียดได้ที่นี่

A Voyage of Foreteller กำกับโดย จักรวาล นิลธำรงค์ คนทำหนังสั้นไปฉายโชว์ในต่างประเทศหลาย ๆ เรื่อง อ่านหนังสั้นของจักรวาลไปร็อตเตอดัม


อโนชา สุวิชากรพงศ์ กับ บริษัท อีเล็กทริค อิลล์ฟิล์ม จำกัด

เจ้าของผลงานหนังสั้น “ Graceland ” ซึ่งได้เข้าประกวดหนังสั้นฉาย Cinefoundation ของเทศกาลหนังเมืองคานส์ครั้งที่ 59 และได้รับรางวัลชนะเลิศจากเทศกาลหนังสั้นปูซานปี 2007 อโนชา สุวิชากรพงศ์ จบวิชาภาพยนตร์จากโคลัมเบีย ยูนิเวอร์ซิตี้

บริษัทก่อตั้งขึ้นมิได้เพียงผลิตผลงานของเธอเท่านั้น ซึ่งมีทั้งหนังสั้น หนังยาว อาทิ Graceland , Three – Zero (หนังเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเดือนกันยายน 2549) และ ยังรวมไปถึงงานของศิวโรจน์ คงสกุล (เจ้าของผลงาน เหมือนเคย) ผลงานอีกชิ้นที่จะเป็นการสร้างของบริษัทนี้คือ หนังสั้นของศิวโรจณ์ คงสกุลเรื่อง “ เสียงเงียบ ” ซึ่งทำขึ้นในโครงการหนังสั้นเฉลิมพระเกียรติของกระทรวงวัฒนธรรม(โดยร่วมมือกับ บริษัท ป็อบพิคเจอร์) ตอนแรกบริษัทนี้วางแผนทำโฆษณาด้วย แต่ไม่แน่ใจว่ายังจะลงมือทำหรือไม่เพราะอาจจะไม่ใช่ทางถนัด

ทางอีเล็กทริค อิลล์ฟิลม์ บริษัทนี้มีโสฬส สุขุม เป็นโปรดิวเซอร์ รวมทั้งตัวอโนชาเอง ก็ทำงานในหน้าที่นี้ด้วย

 

อาทิตย์ อัสสรัตนกับ บริษัท ป็อบ พิคเจอร์ จำกัด

บริษัทของอาทิตย์ อัสสรัตน์ จบปริญญาโทด้านภาพยนตร์จากแคลิฟอร์เนีย ผู้กำกับหนังสั้นและมิวสิควีดีโอมือรางวัล มี “ มอเตอร์ไซคล์ ” เดินทางกวาดรางวัลจากเทศกาลหนังสั้นต่างๆ เกือบครึ่งโลก เขาไม่ได้ตั้งใจจะเปิดบริษัทสร้างหนังเป็นหลัก แต่อยากจะให้บริษัทรับงานหลายๆ อย่าง ซึ่งเป็นงานในแบบที่อาทิตย์ทำมาตลอดก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นมิวสิควีดีโอ หรือโฆษณา บริษัท ป็อบ พิคเจอร์มีส่วนหนึ่งที่เป็นห้องตัดต่อพร้อมเสร็จ แต่เมื่อมองจากภายนอก บริษัทนี้ก็เหมือนบ้านหลังหนึ่ง ชั้นล่างซึ่งใช้เป็นที่คุยงานดูสบายๆ กันเอง อาจเพราะคุณอาทิตย์อยากให้ได้บรรยากาศที่สบายๆ

ในส่วนของหนัง อาทิตย์เพิ่งจะถ่ายทำ “ Wonderful Town ” เสร็จสิ้นไปหมาดๆ และกำลังเตรียมทำรายการโทรทัศน์ Dreamchaser และหนังสั้นที่อยู่ในชุด Boy Genuis ที่เคยได้รับรางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์สั้นเอเชียน่าที่เกาหลี โดยเรื่องนี้จะเป็นตอนที่สามของหนังสั้นชุดนี้ โดยที่บริษัทนี้ก็มีโสฬส

และเจตนิพิธมาช่วยดูแลด้านโปรดิวซ์เช่นเดียวกับอีเล็กทริค อิลล์ แถมระหว่างสองบริษัทนี้ยังมีการช่วยเหลือกันอยู่เป็นพักๆ

อ่านบทสัมภาษณ์ อาทิตย์ อัสสรัตน์ และผลงานของเขา

ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ กับ ดาร์ค ไซด์ ออฟ เดอะ มูน dark side of the moon


เป็นชื่อที่ใช้ในการผลิตหนังสั้นและหนังดิจิตอลยาวของธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ผู้กำกับหนังสั้นไทยที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติคนหนึ่ง และผลงานของเธอที่ทำในนามของกลุ่มนี้ได้เข้าร่วมเทศกาลหนังสั้นในต่างแดนมากมาย ก่อนหน้านี้หลายปีก่อน “ เปลือก ” ของเธอก็เดินทางไปหลายเทศกาลรวมถึง แคลมองต์ เฟอรองต์ที่ฝรั่งเศส ล่าสุดก็มี “ รัก/ผิด/บาป ” ซึ่งไปเทศกาลเดียวกันและเดินสายตามเทศกาลอื่นๆ

โดยปรกติตัวของธัญญ์วารินเองนั่น งานหลักๆ ของเธอนอกจากการเป็นวิทยากรด้านหนังสั้นให้แก่องค์กรต่างๆ อาทิเช่น มูลนิธิกระจกเงา ดูแลการทำหนังสั้นของเด็กๆ ที่ด้อยโอกาส และยังมีงานอดิเรกเป็นการรับจ้างแต่งหน้าอีกด้วย (คนที่ทำหนังต้องรู้จักหาหนทางทำกินหลายๆ ทาง)

ธัญญ์วารินยังทำเรื่อง “Phone Mood” ที่จะออกฉายในเทศกาล Digital Forum 6-9 กันยายนนี้ด้วย

โดยธัญญ์วารินมีเป้าหมายทำหนังในสไตล์ดิบๆ แบบที่เธอเองชอบมานาน และอาจจะช่วยคนทำหนังสั้นที่เป็นเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่รู้จักกันทำหนังสั้นขึ้นมา โดยเน้นการทำงานแบบง่ายๆ ไม่ซับซ้อน

อ่านบทสัมภาษณ์ ธัญญ์วาริน กับ Phonemood

นอกจากคนทำหนังดังกล่าวข้างต้น  ที่เอาจริงเอาจังถึงกับตั้งบริษัท  ก็ยังมีคนทำหนังคนอื่น ๆ อีก 2-3 คนที่กำลังทำหนังขนาดยาวกันอยู่ เพียงแต่ยังไม่ได้ตั้งบริษัทแค่นั้นเอง อาทิ โอ ณัฐพล กับ A Moment In June (อ่านได้ที่นี่) เป็นต้น

การเปิดบริษัทเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่า พวกเขาไม่ได้ยึดถืออาชีพนี้เป็นเพียงงานสมัครเล่นอีกต่อไป  แต่จะทำอย่างไรให้อยู่รอดได้  ซึ่งเราหวังว่าจะเป็นการเปลี่ยนประวัติศาสตร์หนังไทยได้อีกครั้งหนึ่ง และคงเพิ่มตัวเลขคำค่อนขอดจากต่างประเทศว่า เรามีผู้กำกับฝีมือดีไม่ถึง 10 คน

  ©thaicinema.org 
   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.