สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   
  สารบัญหน้านี้ : Almost absent: the world of noir in Thai cinema (เลื่อนลงข้างล่างค่ะ)
  ผู้กำกับหญิงในเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ (และไทย)
   
ก้มหน้าอ่าน  เงยหน้าด - ผู้กำกับหญิงในเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ (และไทย)
  อัญชลี ชัยวรพร / 14 กุมภาพันธ์ 2540
   
 

Nan Achnas, Indonesia
Nia Dinata, Indonesia
Yasmin Ahmad, Malaysia

 

หลังจากความพยายาม 4 ปี ในที่สุดงานเขียนชิ้นแรกเกี่ยวกับผู้กำกับหญิงในเอเชียก็เสร็จสิ้น (เสียที) บทความนี้เป็นผลงานส่วนหนึ่งจากการเดินทางไปใช้ชีวิตในเกาหลีใต้ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์นานร่วมสองปี (จนผ่ายผอม น้ำหนักลดไป 15 กก . อิอิ) ระหว่างปี พ . ศ . 2545-2547 เพื่อต้องการให้คุ้นเคยกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประเทศเหล่านั้น และสืบค้นสาเหตที่ทำให้พวกเธอสามารถก้าวขึ้นมาทำหนังได้ นอกจากนี้สภาพสังคมที่เธอเติบโตมาและล้อมกรอบชีวิตของเธอเหล่านั้น มีผลต่อการสร้างงานของเธออย่างไร เป็นการหาข้อสรุปที่เกิดจากวิถีชีวิตแห่งเอเชีย โดยไม่ได้อิงรากฐานจากแนวคิดตะวันตก อย่างที่บอกมาหลายครั้งแล้วว่า ทฤษฎีตะวันตกไม่สามารถอธิบายวิถีชีวิตแห่งเอเชียได้ทั้งหมด งานวิจัยชิ้นนี้ก็เลยต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน (สักหน่อย)

ข้อสรุปสั้น ๆ พบว่า ผู้กำกับหญิงใน 5 ประเทศนี้ ได้แก่ เกาหลีใต้ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย สามารถก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนี้ได้ ด้วยปัจจัย 4 อย่าง คือ การเติบโตของอุตสาหกรรมหนัง ระบบอุปถัมภ์ในสังคมนั้น ๆ   ชนชั้นของผู้กำกับหญิงเหล่านั้น   และการศึกษา โดยปัจจัยทั้งสี่นี้จะส่งผลต่อการก้าวเข้ามาทำงานกำกับของผู้หญิงในแต่ละประเทศแตกต่างกันไป ขณะที่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมของเกาหลีใต้สู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์แบบในช่วงทศวรรษ 1980   และการเปิดกว้างของงการศึกษาภาพยนตร์ที่ตามมา ส่งผลให้ผู้กำกับหญิงเกาหลีใต้สามารถก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่งผู้กำกับได้ง่ายขึ้น โดยในขณะนี้เกาหลีใต้จะมีผู้กำกับหญิงมากกว่าเพื่อน แต่มีงานคนละไม่กี่ชิ้น เพราะเพิ่งมีโอกาส

แต่โอกาสของผู้กำกับหญิงในอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และไทย ต่างก้าวเข้ามาได้ ก็เพราะชนชั้นที่อภิสิทธิ์กว่าผู้หญิงทั่วไปในสังคม   ทั้งอภิสิทธ์จากพื้นฐานครอบครัวเดิมที่ตนเองมีอยู่ หรือสิ่งที่พวกเขาสร้างขึ้นมาเองจากการทำงาน   และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ระบบเส้นสายและอุปถัมภ์มีส่วนในการผลักดันให้พวกเธอมีโอกาสก้าวขึ้นมางานกำกับในที่สุด

ทั้งนี้และทั้งนั้น ระบบการศึกษาล้วนมีส่วนผลักดันให้พวกเธอก้าวเข้ามาสู่ตำแหน่งนี้ง่ายขึ้น ในกงล้อของการผลักดันที่แตกต่างกันไป ที่น่าสนใจคือ การศึกษาช่วยขยับฐานะทางสังคมของผู้หญิงธรรมดา ๆ ที่ไม่ได้เกิดมาร่ำรวย ให้มีสิทธิ์มีเสียง ต่อรองกับนายทุนได้

สำหรับผู้กำกับหญิงชาวไทยที่รวมไว้ในการศึกษาครั้งนี้ เพิ่งจะก้าวขึ้นมาทำหนังเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง โดยไทยเป็นประเทศเดียวที่ไม่มีข้อมูลของผู้กำกับหญิงในอดีตเลย เพราะฉะนั้นงานวิจัยครั้งนี้ในไทย จะต้องสำรวจในเชิงประวัติศาสตร์ด้วย  มีเรื่องเด็ด ผู้เขียนได้ขอสัมภาษณ์คุณอ้อม ดวงกมล ลิ่มเจริญ เมื่อเดือนกันยายน 2546 ด้วย   สองสามเดือนก่อนที่เธอเสียชีวิต  ตอนนั้นผู้เขียนเพิ่งกลับจากเกาหลีใต้ และกำลังจะเริ่มเดินทางไปทำวิจัยที่ประเทศอาเซียนนานหนึ่งปี  ได้ทราบข่าวว่าเธอป่วยหนัก  ก็เลยขอสัมภาษณ์เธอก่อนใคร  โดยมีนุช พิมพกา โตวิระ  ช่วยบันทึกเทปวิดีโอให้  จำได้ว่าเธอพูดไปอย่างน่าเศร้าใจว่า "อ้อม อยากช่วยเหลือให้เป็นประโยชน์   ก่อนที่จะจากไปจากโลกนี้"

รายชื่อของผู้กำกับหญิงไทยร่วมสมัยที่ได้กล่าวถึงในบทความนี้

มล . มิ่งมงคล โสณกุล (สวมแว่นดำ) พิมพกา โตวิระ (หน้าจอมอนิเตอร์)

 

มล . มิ่งมงคล โสณกุล , พิมพกา โตวิระ , อัจฉราวดี เถาเสถียร , ผอูน จันทรศิริ , บุรณี รัชไชยบุญ , นิดา สุทัศน์ ณ อยุธยา , ศศิธร อริยวิชา , อาริยา ชุมสาย , นิสา กองศรี , โมนา นาห์ม และฤทัยรัตน์ วงศศิริสวัสดิ์

บทความชิ้นนี้เขียนขึ้นเป็นภาษาอังกฤษ และตีพิมพ์วารสาร Asian Cinema ที่สหรัฐอเมริกาฉบับฤดูใบไม้ผลิ คงไม่ได้เขียนเป็นภาษาไทย เพราะงานแบบนี้คนไทยไม่สนใจ

(ขอขอบคุณ Asian Scholarship Foundation - through Asian Scholar Fellows Program) และ Nippon Foundation - through Asian Public Intellectuals Program ผู้สนับสนุนในการเดินทางไปทำวิจัยที่เกาหลีใต้ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ขณะนี้กำลังทำวิจัยแบบเดียวกันกับสิงคโปร์ และประเทศไทย โดยทุนของผู้เขียนเอง)

 

ก้มหน้าอ่าน  เงยหน้าดู - Almost absent: the world of noir in Thai cinema

  อัญชลี ชัยวรพร / 14 มกราคม 2540
                               
 

หลายเดือนนี้ต้องเขียนบทความเกี่ยวกับหนังไทยค่อนข้างเยอะ ขณะที่เขียนก็นึกอยู่ เอ้อ ทำไมเราไม่เขียนเป็นภาษาไทยบ้างนะ อ่านมาตั้งเยอะ เอามาใช้แค่ 6,000 - 7,000 คำเอง อีกอย่างที่อ่านมานั้น ถ้าแบ่งให้คนไทยบ้าง ก็น่าจะมีประโยชน์ไม่น้อย เผอิญไปรู้มาว่ามีคอหนังเป็นแฟนเว็บเยอะ ยังไงถือว่าเป็นการปูพื้นฐานภาพยนตร์ศึกษา หรือ film studies บ้านเราดีกว่า

ที่มันต้องเป็น "ก้มหน้าอ่าน เงยหน้าดู"   เพราะเวลาเรียนหนังจริง ๆ นั้น  ต้องใช้ทั้ง 2 อย่างคู่กัน ต้องอ่านตำราคู่ไปกับดูหนัง  บางครั้งต้องอ่านหนังสือมากกว่าดูหนังเสียอีก   เพราะต้องเอาทฤษฎีมาใช้  ก้มหน้าก้มตาอ่านลูกเดียว  ซึ่งเรียกได้ว่า เป็นวิธีการพื้นฐานของการเรียนหนังเลยก็ได้

เรื่องแรกที่จะมาเล่าให้ฟังครั้งแรกนี้ ก็คือ ฟิลม์นัวร์ กับ หนังไทย

ตอนที่จะเริ่มวิเคราะห์นั้น   ไปค้นตู้หนังสือของตัวเอง   แล้วก็แปลกใจว่าตัวเรานี้ขนหนังสือฟิลม์นัวร์กลับจากอังกฤษเยอะมาก  มากกว่าแนวอื่น ๆ อีก   นึกไปนึกมาก็จำได้ว่าตัวเองหลงเสน่ห์ฟิลม์นัวร์ค่อนข้างมาก  เพราะมันมีความหมายทางสังคมเยอะ ตัวเองทำงานเอ็นจีโอมาก่อน ก็เลยชอบอะไรแบบนี้ ฟิลม์นัวร์นี่มันเข้าท่านะ  เท่ดีมีทั้งสไตล์และความหมาย

ฟิลม์นัวร์เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันมากในต่างประเทศ บ้านเราเข้าใจความหมายของฟิลม์นัวร์เพียงอย่างเดียว เป็นเพียงตระกูลหรือ genre ของหนังเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้ว เขาถกกันมานานแล้ว  ว่าฟิลม์นัวร์ไม่ได้เป็นตระกูลภาพยนตร์ แต่เป็นการเคลื่อนไหวในช่วงหนึ่งเท่านั้น  ตั้งแต่ปี 1941 – 1958 หรือ ตั้งแต่หนังเรื่อง The Maltese Falcon จนถึง Touch of Evil และต้องหมายถึงหนังฮอลลีวู้ดเท่านั้น หลังจากนั้นแล้วถือว่าไม่ใช่ฟิลม์นัวร์   

ที่เขาบอกว่ามันจบไปแล้ว เพราะกำเนิดของฟิลม์นัวร์อยู่ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองเท่านั้น ซึ่งภาวะสังคมอเมริกันตอนนั้นมันเอื้ออำนวยที่จะทำให้เกิดภาพยนตร์แบบนี้ ฮอลลีวู้ดขาดแคลนฟิลม์ที่จะเอามาใช้ถ่ายหนัง ต้องเอาฟิลม์ขาวดำมาใช้  ภาพก็เลยนัวร์ ๆ อย่างที่เห็น

ส่วนทางสังคม เขาบอกว่า หลังสงครามโลกเป็นช่วงที่ทุกคนต่างตกอยู่ในภาวะลำบาก ผู้คนเกิดความกดดันมากมาบ   ทำให้เกิดหนังที่แสดงด้านมืดของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นคอรัปชั่น ตัวละครที่มีบุคลิกแปลก ๆ มีปัญหาทางจิตใจ

The Cinema Book ของ Pam Cook and Mieke Bernink
Film Noir Reader เล่มนี้รวบรวม
ทั้งคลาสิคนัวร์ และนีโอนัวร์

 

เขาถึงกับมองว่า ช่วงหลังสงครามโลกนั้น อเมริกาจะต้องเริ่มฟื้นฟูตัวเองครั้งใหญ่ อเมริกาอาจจะไม่เคยเป็นฉากรบของสงครามจริง ๆ (ยกเว้นก็อ่าวเพิร์ลฮาเบอร์) แต่เขาก็ส่งคนไปรบเยอะ สูญเสียกำลังของชายผิวขาวมากมาย ประกอบกับต้องฟื้นฟูประเทศเสียใหม่ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องดึงคนนอกกรุงมาทำงานในเมืองหลวงมากขึ้น ทีนี้  ชายผิวขาวตายไปเยอะ   ก็เลยเริ่มดึงแรงงานชายผิวดำ กับผู้หญิงเข้ามาทำงาน   มีนักวิเคราะห์บางคนถึงกับมองว่า ถ้าจะดูให้ดี หนังฟิลม์นัวร์ในยุคแรก ๆ จะไม่มีตัวละครผิวดำเลย ทั้งที่ตอนนั้นพวกเขาเริ่มเข้ามาทำงานในเมืองแล้ว ขณะที่ตัวละครผู้หญิงในฟิลม์นัวร์ ก็ถูกเสนอให้เป็นนางตัวร้ายที่เราเรียกกันว่า femme fatale ก็เพราะพวกผู้ชายผิวขาวเขากลัว กลัวผู้หญิงและชายผิวดำจะมายึดพื้นที่ของตน โอ้ย! ตรงนี้ชอบมากเลย

จริง ๆ แล้ว ลักษณะของฟิลม์นัวร์นั้นจะต้องมีทั้งสไตล์และเนื้อหา บ้านเราจะเน้นเชิงสไตล์เป็นหลัก ประเภทมืด ๆ ฝนตก แต่เนื้อหาจะยึดเพียงบางส่วนเท่านั้น พวกด้านมืดในจิตใจ แต่จริง ๆ แล้ว ฟิลม์นัวร์จะต้องเป็นเรื่องสังคมเมือง ผู้ชายจะต้องอ่อนแอ ผู้หญิงต้องร้าย เหงา ตัวละครคลุมเครือ เป็นพวกอัตถวภวนิยม (existentialism) อันนี้ชอบมาก เพราะเคยพยายามเป็นพวก existentialist ไม่เอาครอบครัว ไม่เอาเมืองไทย ร่อนเร่ เดินทางไปเรื่อย ๆ ขอทุนลูกเดียว  แต่ไปไม่รอด ต้องกลับมาขอข้าวแม่กินเหมือนอย่างเคย แหะ แหะ

เขาบอกต่ออีกว่า ที่มันเรียกว่า นัวร์ เพราะพวกที่เรียกมันว่านัวร์เป็นพวกแรก ก็คือพวกนักวิจารณ์ฝรั่งเศสนั่นเอง   เอาไว้จะเขียนถึงกลุ่มนี้บ้าง เพราะทฤษฎีภาพยนตร์ หรือแนวหนังสำคัญ ๆ ของโลก ล้วนเกิดจากประเทศนี้ก่อนทั้งสิ้น

สำหรับหนังไทยในฟิลม์นัวร์นั้นมีน้อยมาก จนตั้งชื่อบทความไว้ว่า Almost Absent : the World of Noir in Thai Cinema   ตัวเองเน้นศึกษาเฉพาะหนังรุ่นใหม่ ตั้งแต่หนัง New Thai Cinema ได้มาประมาณ 10 เรื่อง ครึ่งหนึ่งเป็นพวกรักษาต้นฉบับฟิลม์นัวร์แบบคลาสิค เพราะฉะนั้นจะเห็น femme fatale มีฝนตก

แล้วก็มีอยู่ 4 เรื่องที่เป็นพวกนีโอนัวร์ บางคนก็ท้าท้ายโครงสร้างฟิลม์นัวร์เก่า บางพวกก็ไม่ท้าทาย แต่ที่งานมันดูไม่เหมือนแบบเก่า เพราะเผอิญไปเอางานของเฮียหว่องมาใช้บ้าง จอห์นวูบ้าง ก็เลยเป็นฟิลม์นัวร์แบบโพสต์โมเดิร์น

ตอนดูหนังนั้น เราก็สงสัยว่าเอ เรื่องนี้มันจะเข้าฟิลม์นัวร์ได้ไหม บางเรื่องมันก็มืด ๆ แต่มันไม่เข้าข่ายเท่าไร เพราะมันดูเป็นหนังตลกมากกว่า บางเรื่องก็ดูเหมือนจะใช่ แต่มันไม่มืด

ตอนหลัง ก็เลยใช้วิธีตรวจสอบขั้นพื้นฐาน คือ หนังฟิลม์นัวร์มันมืดมน ถ้าเรื่องไหน เราต้องปิดม่านเยอะ ๆ อันนี้ผ่านขั้นตอนแรก ถ้าดูจนจบแล้ว มันทำให้เราเศร้าอีก โอ้! ใช่เลย เสร็จแล้วก็ค่อยมาดูวิธีการต่อ

ปีนี้มีคนพยายามจัดเทศกาลหนังฟิลมนัวร์ของหนังเอเชียที่ สเปน กันสิงคโปร์ ซึ่งเขาพยายามรวมของไทยไว้ด้วย   แต่ไม่รู้จะได้ผลอย่างไรกันบ้าง  มีความคืบหน้าอะไร จะมาเล่าให้ฟังต่อค่ะ

ก็พอหอมปากหอมคอนะ เอาไว้จะเขียนเป็นเล่ม ๆ จะได้ถกเถียงกันต่อค่ะ ตอนนี้ถ้าใครสนใจฟิลม์นัวร์ ขอแนะนำหนังสือต่อไปนี้ให้ไปอ่านก่อน

Women in Film Noir ให้ภาพในมุมมองเฟมินิสต์

In A Lonely Street
วิเคราะห์ตัวละครชายในหนังฟิลม์นัวร์ที่ได้ชื่อว่าอ่อนแอ และเหงา ...เศร้า

ตัวเองใช้ 4 เล่มนี้เป็นหลัก  แล้วก็มีอีกชิ้นที่พูดถึง neo - noir เพียงอย่างเดียว   แต่ตอนนั้นไม่ได้้ั้ซื้อมาทั้งเล่ม   ซีร็อกมาแค่บทเดียว  ก็เลยไม่มีภาพหน้าปกจ้า

 

 

 

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.