สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   

แฟนตาซีพูชอน – เทศกาลที่เหมาะสำหรับหนังกระแสหลักบ้านเรา

  LINK : หนังไทยเซอร์ไพรส์, ถาม - ตอบ Suck Seed ห่วยขั้นเทพ, เสียงตอบรับ หลุด 4 หลุด   
  แบ่งปัน   Share this on Twitter   Print 
 

 

พูชอนอาจจะไม่ได้ใหญ่โตเท่าเทศกาลหนังพูซาน แต่ก็เป็นที่รู้จักในบ้านเรามานานแล้ว เพราะมีหนังไทยเดินทางไปร่วมงานด้วยทุกปี โดยมี ฟ้าทะลายโจรกับบางกอกแดงเจอรัสไปฉายเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2544 ก่อนที่จะตามมาด้วย 999 ต่อติดตาย, บุปผาราตรี, ผี, ปิศาจ, บอดี้การ์ด และอื่น ๆ อีกมากมาย โดยมีหนังไทยที่เคยได้รับรางวัลที่นั่น ดังนี้

ฟ้าทะลายโจร ได้รับรางวัลจูรี่ไพรซ์ เมื่อปี 2001

บุปผาราตรี 2 ได้รับรางวัลนักแสดงยอดเยี่ยม จากการแสดงของเด่น เด๋อ ดู ดี๋ เมื่อปี 2005

13 เกมสยอง ได้รับรางวัล best director, European Asian Award

ด้วยความที่เทศกาลมีหนังไทยไปฉายแต่ละปีในจำนวนค่อนข้างมาก อดทำให้นึกไม่ได้ว่านี่น่าจะเป็นเทศกาลหนังที่ค่อนข้างใหญ่ แต่เอาเข้าจริงแล้ว พูชอนเป็นงานที่ไม่ได้ใหญ่โตอะไรเลย แต่อยู่ในระดับเดียวกับเทศกาลหนังฟาร์อีสท์ที่อูดิเน่ อิตาลี คือ เน้นผู้ชมมากกว่าคนในวงการหนัง ภาพยนตร์ส่วนใหญ่ที่ได้รับการคัดเลือกมาก็เพื่อผู้ชมทั่วไป มากกว่าคอหนังอาร์ต แต่อูดิเน่จะมีโรงหนังแค่ 2 แห่ง โรงหนึ่งฉายหนังทุกเรื่อง ส่วนอีกโรงฉายหนังในสายรีโทรสเป็คทีฟ เพราะฉะนั้นทุกคนก็มักจะมารวมกันที่โรงใหญ่เพียงโรงเดียวเป็นส่วนใหญ่ กิจกรรมก็มีทุกวัน มีสัมมนา ผู้กำกับหรือดาราที่มาก็จะมีช่วงพบสื่อ แถมด้วยความที่เป็นเมืองเล็ก ก็จะเลี้ยงดูปูเสื่อแขกที่มาในงานทุกมื้อ ยังไงก็เจอหน้ากันวันละหลายหน

ในขณะที่พูชอนจัดงานค่อนข้างจะกระจัดกระจาย โรงหนังหลักถึง 4 แห่ง ยังไม่นับโรงเฉพาะกิจที่ฉายหนังอีก 1-2 แห่ง กิจกรรมค่อนข้างน้อย ยากต่อการรวมแขกไว้ด้วยกันหรือจะเจอหน้าเจอใครที่เคยเห็นหน้าค่าตากันอยู่เป็นประจำเวลาไปเทศกาลต่าง ๆ ยกเว้นว่าจะเผอิญมาดูหนังโรงเดียวกันพอดี เรียกได้ว่าแต่ละคนมีตารางเป็นเอกเทศสูงมาก

เทศกาลหนังค่อนข้างยาวนานถึง 11 วัน แต่มีกิจกรรมไม่มากนัก ทำให้แขกที่มาร่วมงานก็มากันแบบกระจัดกระจายไปด้วย บางคนก็มาในช่วงงานเปิด แล้วก็อยู่งานเพียงครึ่งแรก ขณะที่อีกกลุ่มจะมาในช่วงครึ่งหลังตั้งแต่มีงานกึ่งตลาดที่เรียกว่า Network of Asian Fantastic Films ซึ่งจะเป็นการพบปะกันระหว่างคนทำหนังโปรเจ็คใหม่ ๆ กับแหล่งทุน เรียกได้ว่าเป็นเทศกาลต่างคนต่างไป ถ้าคิดว่าจะมาเจอคน เจอเพื่อน คงเป็นได้ยากหน่อย ถ้าไม่ได้มีการนัดหมายกันจริง

แต่ข้อดีของเทศกาลหนังนี้ก็คือ คนดู หนังแต่ละเรื่องฉายกัน 4-5 รอบ ในโรงขนาดกลางจุคนดูได้ 100 คนขึ้นไป ถ้าเรื่องไหนฉายรอบเช้า รอบหลัง ๆ ก็จะฉายรอบเย็น ๆ ที่จะมีคนดูเยอะ ก็เรียกได้ว่าหนังทุกเรื่องมีคนดูแน่ ๆ โดยเฉพาะรอบเย็น ๆ นั้นมีคนดูถึง 80 เปอร์เซนต์ก็ว่าได้

หนังส่วนใหญ่ที่คัดเลือกเข้ามามักจะเป็นหนังกระแสหลักที่ดูง่าย ถ้าเป็นพวกหนังยุโรปหรือหนังฮอลลีวู้ด อาจจะรวมไปถึงหนังอินดี้กันอยู่บ้าง ประเภทที่ลงทุนไม่มากนัก ส่วนใหญ่จะผูกโยงกับหนังผี หนังเลือดสาดกันเป็นหลัก บางครั้งก็เห็นหนังตลกอยู่บ้าง อาจจะไม่ได้รุนแรงอะไรมากนัก คงมองกันว่าเป็นแฟนตาซีกระตุกต่อม แต่อาจจะมีหนังประเภทอื่น ๆ บ้าง อย่างหนังครอบครัวที่จะฉายในสายหนังประเภทนี้ นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้ Suckseed ห่วยขั้นเทพ ได้ไปฉายที่นั่น แล้วก็หนังแอนิเมชั่นในสาย AniFanta หนังพวกนี้เหมือนหนังพักสายตาไปโดยปริยาย

ปีนี้หนังที่ได้รับการคัดเลือกมาก็มีทั้งหนังดี หนังไม่ดี แต่สายที่น่าสนใจคือ สาย Retrospectives หรือ Homage

และโปรแกรมพิเศษชื่อว่า J-Horror The Last Chapter ซึ่งรวมหนังผีชุด Kaidan Classics ซึ่งเป็นตำนานหนังผีคลาสิคของญี่ปุ่นที่มีมานานหลายทศวรรษ พร้อมกับหนังผีนาคาตะ ฮิเดโอ เจ้าของผลงาน The Ring ซึ่งฉายโชว์ในงานนี้ พร้อมกับผลงานก่อนหน้านั้นอย่าง Don't Look Up

สำหรับหนังในสายประกวดนั้น ในช่วงห้าหกปีหลัง ทางเทศกาลได้รวมหนังจากทั่วโลกมาเข้าร่วมประกวดด้วย รางวัลส่วนใหญ่ก็ถูกหนังจากทางตะวันตกกวาดไป

 

Joko Anwar ผู้กำกับจากอินโดนีเซีย ซึ่งเคยชนะรางวัลพูชอน และมีโปรเจ็คหนังใหม่ใน IT Project

แต่มีส่วนหนึ่งซึ่งไม่เคยมีหนังไทยเข้าร่วมโครงการเลย เขาเรียกกันว่า IT Project นั่นก็คือ เป็นการให้เจ้าของโปรเจ็คหนังใหม่ได้มาพบปะกับแหล่งทุน ปีนี้มีโครงการที่ได้รับการคัดเลือกมาทั้งสิ้น 18 เรื่อง ส่วนใหญ่จะเป็นหนังเกาหลี ส่วนเพื่อนบ้านเรานั้นมีเพียงอินโดนีเซียและมาเลเซียเท่านั้น ไม่เคยมีของไทย ซึ่งคาดว่าเพราะไม่มีคนส่งมากกว่า ก็เลยถือโอกาสบอกกล่าวเผื่อใครสนใจจะส่งงานได้

ในช่วงของการพบปะนี้ ก็จะมีการสัมมนาทางธุรกิจหลายอย่าง ซึ่งก็น่าสนใจที่จะได้ฟังอะไรเกี่ยวกับความคืบหน้าทางธุรกิจไป มีการฉายหนังประเภทนี้สำหรับผู้ที่สนใจจะซื้อหนังที่นี่ เขาเรียกกันว่า เครือข่ายหนังแฟนตาซี หรือ Network of Asian Fantastic Films คล้าย ๆ ตลาดขายหนัง แต่จะไม่มีบูธของพวกบริษัทหนังมาตั้งเท่านั้น คงมีแต่เพียงฉายหนังและเจรจาซื้อขาย

นอกนั้นก็จะเป็นกิจกรรมสำหรับคนเกาหลีเสียมากกว่า อาทิ การอบรมเกี่ยวกับภาพยนตร์แฟนตาซี ตั้งแต่การหาทุน การสร้างและการจัดจำหน่ายต่าง ๆ เรียกกันว่า Fantastic Film School

 

โรงแรมที่พักดูหรู แต่เป็นโรงแรม Love Hotel ด้วย

 

พูชอนเป็นเทศกาลหนังขนาดประมาณเทศกาลหนังร็อตเตอดัม เพียงแต่ว่าลักษณะงานจะกระจัดกระจาย เพราะไม่มีตึกรวมของงานเหมือนอย่างร็อตเตอดัม ซึ่งเป็นศูนย์รวม ยากที่จะเจอใครก็ทำได้ง่าย เพราะมีลักษณะเป็นห้องโถงใหญ่ แถมโรงหนังบางแห่งก็อยู่ใกล้ ๆ ในระยะเดินได้ ขณะที่ศูนย์รวมมากที่สุดของพูชอนเป็นโรงแรม ซึ่งมีลักษณะเป็นห้อง ๆ ทำให้โอกาสที่จะเจอกันนั้นค่อนข้างยาก โรงหนังก็อยู่กระจายออกไป

อีกเหตุผลหนึ่ง พูชอนอยู่ชานเมืองโซลออกมาที่เพิ่งสร้างขึ้นใหม่ ไม่ได้เป็นเมืองอุตสาหกรรมอะไร หรือเป็นเมืองใหม่ใหญ่โต ที่นี่จึงไม่มีอะไรมากนัก ไม่มีแม้กระทั่งโรงแรม 5 ดาว โรงแรมย่านนี้ส่วนใหญ่จะเป็น Love Hotel ชั้นสูงที่คนในโซลแอบมาใช้ชีวิตชั่วคราว เพราะไม่อยากให้ใครเห็น

แต่ถ้าคุณอยากจะไปดูหนังประเภทนี้ นี่ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ส่วนการสร้างเครือข่ายนั้น อาจจะต้องติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของทางเทศกาลมากขึ้น คงเพียงอาศัยการเจอหน้าเจอตาเท่านั้นคงไม่พอ

 

   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.