สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   
หนังไทยในเทศกาลหนังโอเชียน ซีเนฟาน ที่อินเดีย
  ©thaicinema.org / 7 สิงหาคม 2550 โดย อัญชลี ชัยวรพร
   
 


ในช่วงเวลาเดียวกับเทศกาลหนังกรุงเทพเมื่ออาทิตย์ก่อนนี้นั้น บรรดาผู้คนในวงการหนังนานาชาติ ต่างพากันปวดเศียรเวียนเกล้ากับสองเทศกาลหนังในเอเชีย ที่มาจัดพร้อมกันอย่างมิได้นัดหมาย ขณะที่เทศกาลหนังกรุงเทพเริ่มงานวันที่ 19 – 29 กรกฎาคม เทศกาลหนังโอเชียน ซีเนฟาน ก็เริ่มงาน 20 - 29 ผลก็คือทำให้นักท่องเทศกาลบางคนต้องวิ่งรอกระหว่างสองเทศกาล ขณะที่บางคนก็ต้องเลือกเพียงงานเดียว

ส่วนฉันนั้นปฎิเสธเขาไปตั้งแต่แรก เพราะรู้ว่าจะต้องมาตามเทศกาลหนังกรุงเทพ เผอิญเดือนนั้นต้องเดินทางเยอะ   แต่ตอนหลังต้องตกปากรับคำไป เพราะเห็นแก่เพื่อนชาวฟิลิปปินส์ที่เป็นโต้โผใหญ่ในการจัดงานสัมมนา “ กำหนดหนังในเอเชีย ” แต่จะขออยู่แค่สองวันเท่านั้น

เมื่อถึงใกล้งาน คราวนี้ต้องเปลี่ยนใจ ขออยู่ต่ออีกวัน เพราะเห็นรายชื่อแขกที่มาร่วมงานเข้า  ทั้งสองเทศกาลเลือกหนังในระดับใกล้เคียงกัน แต่เขาเชิญแขกได้ดีกว่าเทศกาลหนังกรุงเทพ โดยเฉพาะในสายไดเร็คเตอร์จากเทศกาลหนังต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นปูซาน จองจู มิวนิค โตเกียว เอสโตเนีย รวมทั้งชื่อนักวิจารณ์ดัง ๆ อย่างดิเรก มัลคอล์ม (จากอังกฤษ) เคลาส์ เอเดอร์ (เยอรมนี) รัสเซล เอ็ดเวิร์ด (ออสเตรเลีย) ทาดาโอะ ซาโต้ (เพื่อนสนิทคุณเชิด ทรงศรี) มาร์ค ชิลลิ่ง (ญี่ปุ่น) คริส ฟูจิวาร่า (ญี่ปุ่น) อีกทั้งบรรดานักวิชาการหนังชื่อดังจากมหาวิทยาลัยเยล จากเกาหลีใต้ โอ้ย! จาระไนไม่หมด


เจ้ย อภิชาติพงศ์ไปเป็นกรรมการตัดสินในสายหลักอย่างที่เคยรายงานไปแล้ว ฉันไปทันงานเปิดพอดี เห็นเจ้ย
อยู่ไกล ๆ แต่ยังไม่ทันคุยกัน มัวแต่จ้อกับเพื่อน ๆ เสร็จแล้วก็รีบเข้านอน ต้องเตรียมพูดในอีกสองวันข้างหน้า

งานสัมมนาจัดแต่เช้า เจ้ยมาช่วยนั่งฟัง เพราะคิดว่าฉันพูดวันแรก แต่ฉันพูดวันที่สอง ซึ่งเจ้ยไม่ว่างพอดี ฉันบอกไม่เป็นไร   จริง ๆ แล้ว ฉันยังขี้อายมากที่ต้องพูดในที่สาธารณะน่ะ

สำหรับงานสัมมนาเรื่อง “ กำเนิดหนังในเอเชีย ” นั้น ก็มีผู้เชี่ยวชาญจากเยล อังกฤษ ชื่อ สตีเฟ่น บัทเทิลมอร์ ซึ่งเผอิ๊ญเผอิญอยู่เชียงใหม่บ้านเราพอดี นอกนั้นก็เป็นผู้เชี่ยวชาญจากแต่ละประเทศ ได้แก่ ตุรกี เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ศรีลังกา อินเดีย อิหร่าน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย

ความจริงแล้ว คนไทยที่เชี่ยวชาญกำเนิดหนังยุคเริ่มแรกของไทย มีพี่โดม สุขวงศ์ และชลิดา เอื้อบำรุงจิต เราทั้งสองคนเคยได้รับเชิญไปงานสัมมนาครั้งแรกพร้อมกัน แต่ชลิดายุ่งมาก ไม่มีเวลาเขียนบทความให้ ก็เลยมีฉันไปอยู่คนเดียว ส่วนฉันสนใจเพียงเรื่องเดียวล่ะค่ะ คือ อิทธิพลของสถาบันกษัตริย์ในยุคก่อกำเนิดของภาพยนตร์ ถ้าให้พูดเรื่องอื่นก็เป็นใบ้เหมือนกัน

เมื่อต้องมาพูดในเวทีนั้น ปรากฎว่าของไทยเราโดดเด่นเลยค่ะ เพราะหนังยุคแรกของประเทศอื่นล้วนเริ่มโดยชาวต่างชาติ หรือพวกนักธุรกิจ เพื่อนบ้านเราต่างตกเป็นเมืองขึ้นในตอนนั้น ของไทยเราไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของใคร ก็เลยเริ่มบุกเบิกโดยสถาบันกษัตริย์ ที่น่าสนใจก็คือ กำเนิดหนังของเราพอดีอยู่ในช่วงที่การต่อสู้ความคิดทางการเมืองกำลังคุกรุ่นทั้งในและนอกประเทศ ฝรั่งก็อยากจะเอาเราเป็นเมืองขึ้น ขณะที่คนไทยก็ต้องการเปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นประชาธิปไตย   ภาพยนตร์ก็ถูกใช้เป็นสื่อในการต่อสู้อำนาจทางการเมืองเหมือนกัน

พูดเรื่องเครียด ๆ ขอจบแค่นี้ เดี๋ยวไม่สนุกกัน

พูดจบ ตามกำหนดการเดิมฉันต้องไปกินข้าวเที่ยงกับทีมแขกรับเชิญ แต่หนัง แสงศตวรรษ กำลังจะฉายที่สมาคมฝรั่งเศส อีกเวทีหนึ่ง ซึ่งอยู่ไกลออกไป ตอนนั้นรถรับส่งก็ไม่อยู่ ฉันรีบซิ่งตุ๊กตุ๊กไปทันที

ช้าไป 10 นาที แต่เครดิตหนังเพิ่งขึ้น แค่คำว่า Fortissimo Films เท่านั้น เฮ้อ โชคดี  ยังทัน สักพัก เห็นเจ้ยเดินออกไปในความมืด พร้อมกับผู้ติดตาม ก็รู้ว่าช่วงแนะนำหนังผ่านไปแล้ว ก็ดีเหมือนกัน  ทำให้เราได้ดูหนังทันพอดี

คนดูค่อนโรง ส่วนใหญ่ก็จะชอบกันนะ หัวเราะกันใหญ่ ไม่ค่อยมีใครเดินออก

พอหนังจบ ฉันพยายามมองหาคนดูที่เป็นชาวอินเดีย เพราะเขานับถือพุทธเหมือนบ้านเรา อยากสัมภาษณ์เขาในความรู้สึกว่า เห็นอย่างไรกับฉากที่เซ็นเซอร์บ้านเราไม่ยอมให้หนังผ่าน โดยเฉพาะ ฉากพระเล่นกีตาร์ ปรากฎว่าคนดูส่วนใหญ่จะวิ่งรอกไปยังโรงหนังอีกแห่ง ส่วนคนที่นั่งรถกลับไปพร้อมกับฉัน ก็ไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ

บริเวณโรงหนังใหญ่ที่สุด
 

เจ้ยจะต้องขึ้นเวทีพูดเรื่องหนังอินดี้อีกสองวันถัดมา แต่ฉันจะต้องกลับมากรุงเทพแล้ว แถมรอบฉาย แสงศตวรรษ อีกรอบ และพลอย ทั้งสองรอบ ก็ฉายตอนที่ฉันต้องกลับไปแล้ว ก็เลยอดตามกระแสของชาวบ้านร้านช่องให้ประชาชนทราบไป

พวกแขกรับเชิญค่อนข้างชอบเจ้ยนะ ไม่รู้ว่าเพราะฉันเป็นคนไทยหรือเปล่า Tina Lock ไดเร็คเตอร์จากเทศกาลหนังเอสโตเนีย ประทับใจเจ้ยมาก เธอไม่รู้จักว่าเจ้ยเป็นใคร ฉันต้องเป็นคนบอกเธอเองว่า เทศกาลหนังของเธอน่ะ ฉายหนังเจ้ยทุกปี แถมคนดูเต็มโรงอีกต่างหาก เธอก็เลยเพิ่งจะนึกได้   เธอบอกว่า เจ้ยขี้อาย แต่ฉันบอกว่า เจ้ยเป็นคนถ่อมตัวต่างหาก

ฉันแนะนำป๋าเคลาส์ เอเดอร์ เลขาธิการ fipresci ให้รู้จักกับเจ้ย ก็ตามประสาป๋า แกจะทำหน้าเฉย ๆ แต่ตอนหลังก็แอบมาถามว่า ชื่อเจ้ยต้องออกเสียงอย่างไร ถึงจะถูก เท่านั้นแหล่ะ ฉันรู้ว่าป๋าแกก็สนใจแล้วล่ะ นิสัยอย่างป๋า ถ้าแกไม่สนใจ แกไม่ถาม

คนที่ใส่เสื้อสีฟ้า คือ ดิเรก มัลคอล์ม นักวิจารณ์หนังสือพิมพ์ Guardian จากอังกฤษ และขวา (เสื้อขาว) คือ เคลาส์ เอเดอร์ เลขาธิการ fipresci ซึ่งตัดสินให้รางวัลกับ พลอย เป็นภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

ก็รายงานให้ฟังกันสั้น ๆ นะคะ กับรูปเพียงไม่กี่รูป คือ หลัง ๆ นี่ สายตาเริ่มมีปัญหา ก็เลยถ่ายรูปไม่ดีเหมือน 20 ปีก่อน ตอนนี้ชมภาพกันตามสะดวก

บริเวณหน้าโรงหนังอีกแห่ง

 

ช่องขายตั๋วจ้า

เคาน์เตอร์ที่ทำงานทุกอย่าง ตั้งแต่ขายของที่ระลึก ยันต้อนรับแขก

นิทรรศการโปสเตอร์

 

 
รางวัลแรกของ พลอย ในเวทีระดับนานาชาติ
 

อัญชลี ชัยวรพร 30/7/07

   
 


ประกาศมาแล้วจ้าเมื่อคืนนี้เวลา 18.30 น. ตรงกับเวลา 20.00 น. บ้านเรา ซึ่งตรงกับการฉายหนังปิด ไชยา ในเทศกาลหนังกรุงเทพพอดี   

พลอย ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากสายนักวิจารณ์ ของเทศกาลหนังโอเชี่ยนซีเนแฟน ประจำกรุงเดลลี  ประเทศอินเดีย หรือที่รู้จักกันดีในนามว่า fipresci ซึ่งกรรมการในปีนี้ถือว่าแข็งมาก เพราะเป็นกรรมการอาวุโสทั้งนั้น   ล้วนเป็นผู้บริหารของสมาพันธ์อย่าง ดิเรก มัลคอล์ม ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประธาน และขณะนี้เป็นนักวิจารณ์ให้กับหนังสือพิมพ์ The Guardian ประจำประเทศอังกฤษ

คนที่สองคือ ป๋าเคลาส์ เอเดอร์ จากประเทศเยอรมนี ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ  เคยทำเทศกาลหนังมิวนิคมา 25 ปี ก่อนประกาศขอลา   ป๋าเขาเป็นนักวิจารณ์รุ่นโกดาร์ดโน่น  ปากจัด   แต่ตรงไปตรงมา ใจดี : )

คนสุดท้่ายคือ คริส ฟูจิวาร่า นักวิจารณ์ลูกครึ่งสหรัฐ - ญี่ปุ่น เชี่ยวชาญหนังญี่ปุ่นเป็นกรณีพิเศษ

ทั้งสามได้ให้เหตุผลว่า หนังมีความยอดเยี่ยมในการสร้างภาพตัวแทนของจินตนาการ เรื่องเซ็กส์  ความเสี่ยง และการกลับคืนในบริบทสังคมเมืองร่วมสมัย  ได้อย่างละเอียดอ่อน มีเสน่ห์  ด้วยความชำนาญเป็นพิเศษ ( For its subtle and beguiling representation of fantasy, sexuality, risk, and renewal in a Contemporary urban context evoked with great skill).

คุณดำรง โรจนพิเชษฐ จาก ไทยโพสต์   ซึ่งเป็นคนไทยในจำนวนอันน้อยนิดที่ไปที่นั่น ขึ้นไปรับรางวัลแทน

นอกจากนี้หนังได้เข้าในสายประกวดทางการที่ชื่อว่า Asian and Arab Competition ซึ่งมีอภิชาติพงศ์ เป็นหนึ่งในคณะกรรมการด้วย   แต่หนังที่ได้รางวัลไปมีดังนี้

BEST FILM AWARD
DESERT DREAM by ZHANG LU

SPECIAL JURY AWARD
LONESOME TREES by Saeed Ebrahamifar & MAKING OF by Nouri Bouzid

BEST ACTOR AWARD
LOTFI ABDELLI for MAKING OF

BEST ACTRESS AWARD
CHERRY PIE PICACHE for FOSTER CHILD

รายชื่อผู้เข้าชิงทั้งหมดอ่านได้ที่นี่

 

 


Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.