สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

 
หนังประกวด
  อัญชลี ชัยวรพร / 16 พฤษภาคม 2557
  LINK : เมนูเทศกาลหนังเมืองคานส์
 
Share |
Print   
 

Day 3 / 16 พฤษภาคม

 

 

The Captive – Sweet Hereafter ฉบับเดินเส้นคู่ขนาน

อะตอม อีโกยัน เคยได้รับรางวัลจากคานส์เมื่อปี 1997 Sweet Hereafter หนังเล่าเรื่องการผชิญหน้าของผู้สูญเสียอันเนื่องมาจากรถนักเรียนเกิดอุบัติเหตุ จนเด็กเสียชีวิตเกือบทั้งคัน หนังดำเนินเรื่องจากความพยายามของทนายวัยกลางคนที่พยายามเรียกร้องให้ครอบครัวผู้สูญเสียมาเอาเรื่องกับเจ้าของบริษัทรถแห่งนั้น ซึ่งเท่ากับเป็นการต่อสู้กับตนเองของครอบครัวผู้สูญเสียกับโศกนาฎกรรมอันนั้น

ในลักษณะคล้ายกัน The Captiveพยายามย้อนรอยการสูญเสียของสามีภรรยาคู่หนึ่งเมื่อลูกสาววัยแปดขวบหายสาบสูญไปอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย เพียงพ่อแวะเข้าไปซื้อไอศครีมให้ลูกสาว หนังดำเนินเรื่องท่ามกลางฤดูหนาวอันเยือกเย็นเช่นเดียวกับ Sweet Hereafter โดยเน้นภูมิทัศน์อันหนาวเหน็บและมีแต่ความขาวโพลน และเล่นกับความสูญเสียของพ่อแม่เหมือนกัน เพียงแต่ว่าพอมาเป็นเรื่องนี้ ความสูญเสียนั้นอยู่ยาวนานถึงแปดปีในใจจนกระทั่งวันหนึ่ง เขาก็พบร่องรอยบางอย่างว่าลูกสาวไม่ได้หายไปไหน

The Captive เป็นหนังทริลเลอร์ที่น่าจะไปฉายในเทศกาลหนังอีกกลุ่มหนึ่งมากกว่ามาคานส์ นอกจากภูมิทัศน์อันโดดเด่นที่ต้องยกความดีให้ตากล้องแล้ว อะตอมก็ยังแสดงให้เห็นชั้นเชิงเก่า ๆ ของเขาจาก Sweet Hereafter อยู่บ้าง เพียงแต่ว่าฉบับแรกนั้น เขาเดินเส้นทางหนังด้วยความนิ่งงัน หนาวเย็น แม้กระทั่งเมื่อถึงไคลแมกซ์ ก็จากไปอย่างเงียบ ส่งผลให้พลังแห่งความสูญเสียมันถ่ายทอดมาถึงผู้ชมอย่างแรงกล้า เข้าทำนองที่ว่า “น้ำนิ่งไหลลึก” แต่พอมาเป็น The Captive เขาคงกลัวว่าจะเดินย้อนรอยเดิมในเรื่องความสูญเสีย ก็เลยปรับให้เป็นหนังสืบสวนสอบสวนไปด้วย พ่อแม่ของเด็กน้อยไม่ได้เป็นตัวละครหลัก แต่ยังมีตำรวจกับหัวหน้าตำรวจที่ตอนหลังก็ถูกลักพาตัวไปในที่สุด ส่วนจะรอดหรือไม่ ให้รอดู พอหนังมันเอาหลายอย่างมากเกินไป มันก็เลยรายละเอียดที่น่าจะมีพลังอย่างการแสดงของพ่อแม่ ก็ตกไป เพราะถูกแจกจ่ายความสำคัญไปให้กับตัวละครอื่น ๆ

จุดเด่นของหนังเรื่องนี้นอกจากภาพแล้ว หลาย ๆ ตอนก็แสดงให้เห็นการปรับตัวทำ “หนังใหญ่” ของอะตอม อย่างตอนที่ลูกสาวถูกลักพาตัวนั้น การจ้องมองได้รับการนำเสนอแม้แต่ผู้เป็นบิดา ดนตรี การตัดต่อ มุมกล้อง แม้จะดูเอกเกริก ก็แสดงให้เห็นมุมมองใหม่ ๆ ที่ไม่ค่อยได้พบเห็นนักในหนังตลาด

แม้จะถูกโห่ แต่หนังเรื่องนี้ก็มีคนเดินออกมาน้อยกว่าหนังของไมค์ ลีห์ เรื่อง Mr. Turner นะคะ อาจจะไม่เหมาะสำหรับคอหนังอาร์ต เจ้าของลัทธิว่าหนังอาร์ตคือหนังดี หนังตลาดคือหนังเลว

Winter Sleep ฉันยังคงรักเธอเสมอ

 

หนังเรื่องล่าสุดของผู้กำกับชาวตุรกีผู้นี้ Nuri Bilge Ceylan เป็นหนังประกวดที่ยาวที่สุดถึง ชั่วโมง นาที แต่กลับกลายเป็นว่านี่เป็นหนังที่เข้าใจง่ายที่สุดของเขาก็ว่าได้

หนังเล่าเรื่องชีวิตบั้นปลายของ Aydin อดีตนักแสดงในหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่อนาโตเลีย กับภรรยานิฮัล เขาเป็นเจ้าของกิจการโรงแรมเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง ไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยวชาติต่าง ๆ พร้อมกับสร้างงานเขียนเล็ก ๆ แต่ Aydin กำลังมีปัญหากับเมียยังสาวของเขา ขณะที่เขามีปัญหากับชาวบ้านที่ติดเงินเขา นิฮัลกลับอยากพยายามช่วยเหลือพวกเขาเหล่านั้น ซึ่งยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองแย่ยิ่งไปกว่าเดิม จนกระทั่งถึงฤดูหนาว เรื่องราวและสิ่งที่ซ่อนอยู่ในใจของทั้งสองก็เปิดเผยขึ้น

แม้ชื่อหนังจะมีนัยถึงการเปลี่ยนแปลงของอากาศเหมือนหลาย ๆ เรื่องของนูรีก่อนหน้านั้น และในการเชื่อมโยงกับอากาศ นูรีมักจะถ่ายทอดออกมาด้วยภาพทิวทัศน์ข้างนอกมากกว่า แต่ Winter Sleep เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมด้วยการเน้นภาพในบ้านเกือบตลอดทั้งเรื่อง โดยมีฉากทิวทัศน์เพียงน้อยนิด จนกระทั่งถึงชั่วโมงสุดท้ายของหนังนั่นแหล่ะที่เริ่มมีฉากด้านนอกมากกขึ้น ซึ่งก็ตรงกับช่วงหน้าหนาวพอดี และเป็นช่วงที่สามีภรรยาคู่นี้ออกห่างกัน โดยการเดินทางเข้าเมืองของคู่สามี

ในช่วงแรกซึ่งเน้นการถ่ายภาพในบ้านหรือในร่มนั้น มีการเล่าเรื่องแบบเบา ๆ ไม่เคร่งเครียดซีเรียสเหมือนเรื่องที่ผ่าน ๆ มา เน้นการใช้บทสนทนาเป็นหลัก เรียกได้ว่าผิดจากหนังเรื่องอื่น ๆ ก่อนหน้านี้ของนูรีเป็นอย่างยิ่ง อาจจะเป็นเหมือนการปูความสัมพันธ์ของคนทั้งสอง ซึ่งผู้กำกับยอมเสียเวลากับมันสองชั่วโมงกว่า ๆ วิธีการที่เปลี่ยนไปนี้ มันทำให้เราเห็นตัวตนของอัยดินชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งที่เขามีกับภรรยาและเพื่อนบ้าน และด้วยวิธีการที่ผ่อนให้เบาขึ้น ทำให้ดิฉันรู้สึกดูหนังเขาเรื่องนี้ได้ยาวนานมากกว่าเรื่องอื่น ๆ ก่อนหน้านั้น แม้หลายคนอาจจะบอกว่าไม่จำเป็นต้องยาวขนาดสั้น

ดิฉันรู้สึกว่านูรียังต้องการบอกอะไรต่อหลังจาก Climate ผสมผสานกับความผูกพันของเขาที่มีต่ออนาโตเลีย เขาจึงทำเรื่องนี้ออกมา อาจจะเป็นอายุที่เพิ่มขึ้น ทำให้ทัศนคติต่อเรื่องราวเก่า ๆ เปลี่ยนไป ซึ่งเขาเฉลยออกมาในตอนจบหนังเรื่องนี้ แล้วคราวนี้เขายอมบอกมันออกมาชัดเจน มากกว่าการเล่าเรื่องด้วยภาษาเหมือนภาพยนตร์ก่อนหน้านั้น

ถ้าจะให้ดี ควรแวะกลับไปดูทั้ง Climate และ Anatolia อีกครั้ง ซึ่งอาจจะทำให้ความคิดของเราต่อหนังเรื่องนี้ชัดเจนขึ้นไปด้วย


 

 

Wild Tales รวมมิตรหนังสั้น

ก่อนออกจากเมืองไทย Wild Tales เป็นหนังประกวดเรื่องที่ดิฉันอยากดูที่สุด เพราะชื่อโปรดิวเซอร์อย่างอัลโมโดวาร์เพียว ๆ หลังจากดูตอนต้นเรื่องไปร่วม 15นาที ก็ดีใจมาก ตื่นเต้นที่จะได้พบผู้กำกับรุ่นใหม่ที่มีการทำหนังท้าทายเหมือนอย่างอัลโมโดว่าร์เคยทำสมัยหนุ่ม ๆ แต่พอเมื่อจับทางได้ว่านี่เป็นเพียงหนังสั้น 6 เรื่องที่มีประเด็นร่วมในเรื่องความรุนแรงและการย่อยยับแล้ว เริ่มงงแทนว่าทำไมรวมมิตรหนังสั้นก็เข้าสายประกวดได้ด้วย

หนังเริ่มเรื่องจากเที่ยวบินหนึ่งที่ไป ๆ มา ๆ ผู้โดยสารต่างรู้จักชายหนุ่มคนเดียวกัน ซึ่งหนังเฉลยในตอนจบว่าเป็นหัวหน้านักบินเที่ยวนั้น เรื่องที่สองเป็นการแก้แค้นของแม่ครัวกับอดีตนายหน้าเงินกู้ ตามมาด้วยความรุนแรงของชายสองคนบนถนนสายเปลี่ยว การตอบโต้ของวิศวกรกับการเรียกค่าปรับไม่รู้จบสิ้นของรัฐบาล การฉ้อโกงคดีในสังคมอาร์เจนติน่า และการแก้แค้นของคู่บ่าวสาวในคืนแต่งงาน


หนังมันก็สนุกน่ะค่ะ แต่ละเรื่องมันกระชับ และบทที่คาดไม่ถึง แต่ด้วยธีมที่แทบจะย้ำอยู่กับที่ในเรื่องความรุนแรง เลือด และความย่อยยับที่เกิดขึ้น ทำให้พอถึงเรื่องที่สามชักไม่สนุกล่ะ ยิ่งมาถึงเรื่องสุดท้าย ชักจะรำคาญ และไม่เข้าใจเหมือนกันว่า รวมมิตรแบบนี้เอาเข้ามาได้ยังไง

สมควรถูกโห่มากค่ะ โดยเฉพาะคนที่เกลียดหนังรวมมิตรเหล่านี้


   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.