สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   
4 โปรเจ็คหนังไทยไปคานส์เป็นอย่างไรกันบ้าง
  อัญชลี ชัยวรพร / 1 มิถุนายน 2554
  LINK : รายละเอียด 4 โปรเจ็คหนังไทยที่ไปพบปะนายทุนที่คานส์
  แบ่งปัน            Share this on Twitter             Print 
 

 

พันธุ์ธัมม์ ทองสังข์ โชว์รีล พี่ น้อง ศัตรู เพื่อน

ความพยายามของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยในการส่งเสริมการผลิตภาพยนตร์ไทยคุณภาพขึ้น โดยการหาผู้ร่วมลงทุนในต่างประเทศหรือที่เรียกว่า Thai Film Pitching นั้น อาจจะไม่ได้ผลที่เห็นได้ชัดทันทีทันใด แต่การส่งเสริมนั้นก็ดูจะเป็นไปในทางบวกมากขึ้น

สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยได้คัดเลือกโครงการภาพยนตร์ไปหาผู้ร่วมลงทุนที่คานส์มาหลายครั้งแล้ว ครั้งนี้เป็นครั้งที่สาม โดยหนนี้มีแนวทางที่ชัดเจนขึ้น ด้วยการคัดเลือกผลงานอิสระของผู้กำกับทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่า ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว และในโครงการนี้มีผู้เดินทางไปทั้งสิ้น 6 คน ดังนี้

ฤทัยวรรณ วงศ์สิรสวัสดิ์ ผู้กำกับ และพวัสส์ สวัสดิ์ชัยเมธ โปรดิวเซอร์ จาก สายน้ำลูกผู้หญิง
พันธ์ธัมม์ ทองสังข์ จาก พี่ น้อง ศัตรู เพื่อน (คุณเอกชัย เอื้อครองธรรม ผู้กำกับ ติดละครเวที)
วริศรา วิจิตรวาทการ ผู้กำกับ และ พรมนัส ศิลป์ศาสตร์ จาก Karma Polic
กฤตณัฐ ธราวิศิษฏ์ โปรดิวเซอร์และผู้กำกับจาก อินเดียรำลึก

สำหรับผลนั้น พันธุ์ธัมม์ ทองสังข์ ซึ่งเคยเข้าร่วมโปรเจ็คนี้ตั้งแต่ครั้งแรกเมื่อหลายปีก่อน โดยครั้งนั้นเขาได้นำผลงานเรื่อง Duck Fight มาหาผู้ร่วมลงทุน กล่าวว่า "เรื่องการไปทำpitching ที่คานส์ คงยังไม่มีผลอะไร เป็นเรื่องปกติที่ไม่สามารถจบdeal กันได้ทันที แต่จะต้องติดตามกันต่อ"

"ส่วนเรื่องมีประโยชน์ไหม สำหรับโปรเจค พี่ น้อง ศัตรู เพื่อน ก็โอเค เราคงต้องมองต่อไปที่ Paris Project (โครงการที่ให้โปรเจ็คใหม่ได้มาพบกับแหล่งทุนที่ฝรั่งเศส เป็นโครงการของ Paris Cinema Film Festival) แต่หนังแบบเรื่องนี้ การหาทุนจากต่างชาติโดยไม่มีทุนจากไทยเป็นตัวหลักทำได้ยากมากๆ คงคล้ายกับ สายน้ำลูกผู้หญิง

 

พรมนัส ศิลปศาสตร์ และ วริศรา วิจิตรวาทการ

 

แต่ที่ผมคิดว่ามีประโยน์คงจะเป็นอีก2เรื่องคือ  Karma Police และ อินเดียรำลึก เพราะ Karma Police ได้มาอัพเดทกับคนที่เขาไปเจอที่ CineMart ของร็อตเตอดัมมาแล้ว เป็นการต่อเนื่อง ส่วนอินเดียรำลึก ก็เห็นทางเลือกของตนเองมากขึ้น เช่น การฉายหนังให้แหล่งทุนดู ที่เรียกว่า Paris Screening (เป็นส่วนหนึ่งของ Paris Project) หรือโครงการอื่น ๆ เช่น Eye On Film เป็นต้น ทั้งนี้ยังมีโอกาสได้ซักถามหาข้อมูลกองทุนของประเทศต่างๆ

และที่สำคัญอีกเรื่องก็คือการที่ได้ให้โอกาสคนทำหนังมาทำความเข้าใจ หาประสบการณ์จากเทศกาลภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ปีนี้ของผม  แค่ได้มาดูหนัง5เรื่องก็คุ้มแล้ว

พรมนัส ศิลปศาสตร์ จาก Karma Police กล่าวว่า จากการไป pitching ที่คานส์ ที่ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยนัดมาให้ ส่วนใหญ่เราจะเคยพบปะกันที่ Cinemart ของรอตเตอร์ดัมมาแล้ว เรื่องดีคือเราได้ต่อยอด ได้รับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมในเรื่องของบท (เราได้ส่งบทเต็มไปให้ co-producers หลายท่านอ่านหลังจากจบ cinemart ไปแล้ว) เราได้ความคิดเห็นเหล่านี้นำมาขยายผลในการหาทุนเพิ่มต่อไป และที่สำคัญคือทำให้เรารู้ทิศทางในการหาทุนมากขึ้นว่าเราจะเดินไปทางไหนต่อ

กำไรที่ได้นอกเหนือจากนั้นคือเราได้ inspiration จากการไปดูหนังดีๆที่นั่น ทำให้ยิ่งมีไฟอยากทำโปรเจคให้สำเร็จให้ได้ และยังได้พบปะพูดคุยกับนักทำหนังด้วยกันไม่ว่าจะกับคณะที่เดินทางไปด้วยกันหรือกับพี่ปราโมทย์และพี่กานต์ ซึ่งทำให้เรารู้สึกดีและอบอุ่นมากๆค่ะ

ขณะที่ พวัสส์ สวัสดิ์ชัยเมธ จากสายน้ำลูกผู้หญิงเห็นว่า มีประโยชน์อยู่ไม่น้อย "เราได้ศึกษามาก่อนเดินทางแล้วว่า ในการ pitch ครั้งนี้จะไม่ได้เจอผู้ลงทุน (investor) หรือ co-producer จากต่างประเทศโดยตรง แต่ผมคิดว่าการร่วมงานครั้งนี้ได้ประโยชน์แน่นอน ถือเป็นการ pitch งานครั้งแรกของ “สายน้ำลูกผู้หญิง”

 

ทีม สายน้ำลูกผู้หญิง กำลังคุยกับตัวแทนปารีสโปรเจ็ค

หน้าที่อย่างหนึ่งของการสร้างภาพยนตร์อิสระ คือการผลักดันให้ตัวงานเป็นที่รับรู้ และรู้จักแก่คนในวงกว้างให้ได้ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่จะพาเราไปยังแหล่งทุนภายนอกประเทศได้ ผมได้พบตัวแทนจากเทศกาลภาพยนตร์สำคัญๆ หลายคน ได้รับคำแนะนำที่เป็นประโยชน์หลายประเด็น ตรงส่วนนี้ถือเป็นประโยชน์อย่างมาก ต่อการเตรียมโปรเจ็คในขั้นต่อๆ ไป หวังว่าอาจจะมีโอกาสได้ร่วมงานในเวทีที่ใหญ่ขึ้นในลำดับถัดไป

คุณพวัสส์ เห็นว่าภาครัฐน่าจะช่วยส่งเสริมตามเทศกาลอื่น ๆ ด้วย " การที่ภาครัฐ มีกิจกรรมที่สนับสนุนภาพยนตร์อิสระ ถือเป็นเรื่องที่ดี ควรจะมีมากกว่าหนึ่งครั้งต่อปี กระจายตามเทศกาลใหญ่ๆ แต่คิดว่าคงเป็นไปได้ยาก เพราะงบประมาณ จากภาครัฐในงานส่วนวัฒนธรรม อยู่ในสัดส่วนที่น้อยมาก

ควรจะมีต่อเนื่องทุกๆ ปีเพียงแต่ว่า เราจะหาวิธีปรับปรุง ให้ดียิ่งขึ้นในแต่ละปีได้อย่างไร ? ผมเชื่อว่า มีภาพยนตร์อิสระจำนวนหนึ่งเกิดขึ้นทุกปี งานเหล่านี้ต้องการเวทีในการแสดงตน และต้องการการสนับสนุน ผลักดันงานให้เคลื่อนไปข้างหน้า

ทั้งนี้ คุณพวัสส์ ได้ทิ้งท้ายข้อเสนอแนะบางอย่างไว้เพื่อประสิทธิภาพในอนาคต "โครงการที่ได้รับการคัดเลือก ควรจะประกาศล่วงหน้าก่อนเดินทางอย่างน้อยสองเดือน เพื่อให้มีเวลามากขึ้นในการเตรียมตัว ควรมีการอบรม สำหรับผู้ที่ไม่มีประสบการณ์เพียงพอ มีเวลามากขึ้นในการนัดหมายกับคนให้ได้มากขึ้น อีกอย่างอาจจะต้องได้รับการบูรณาการให้มากขึ้น ทั้งจากทางภาครัฐด้วยกันเอง (กระทรวงที่ต่างกัน) และภาคเอกชน อาทิเช่น ขอความร่วมมือในการแลกข้อมูลติดต่อจากคนหลายๆ กลุ่ม ซึ่งถ้าทำได้ดีขึ้น การ pitch จะมีผู้มาร่วมงานมากขึ้น การมีผู้ร่วมงานมากขึ้น ประโยชน์ก็จะได้กับทุกๆ ฝ่าย"

 

กฤตณัฐ ธราวิศิษฏ์ิ กับ อินเดียรำลึก

อย่างไรก็ตาม สำหรับหน้าใหม่ต่อการพิชชิ่งในต่างประเทศอย่าง กฤตณัฐ ธราวิศิษฏ์ โปรดิวเซอร์และผู้กำกับจาก อินเดียรำลึก มีความเห็นแตกต่างไป " สำหรับผมนะครับ ผลการ pitching มันก็ไม่เป็นชิ้นเป็นอันอะไรเท่าไหร่  คือเราไปเพื่อหาทุนมาทำโพสต์โปรดักชั่นต่อ แต่ที่มาคุยไม่มีใครให้เงินเลย  แล้วนัด 3 ราย  แต่มาแค่ 2  แล้วที่ไม่มาดันเป็น ปารีสโปรเจ็ค อันเดียวที่มันมีลุ้นหาเงินได้ด้วย ... โปรเจ็คผมมันดูไม่เร้าใจหรือไงไม่ทราบ  ถึงหายไปดื้อ ๆ ทั้งที่ตอนเช้าก็ยังมา"

แต่กฤตณัติก็ยอมรับว่า โปรเจ็คนี้ยังดีมีประโยชน์ "แต่มันก็น่าจะดีกว่านี้ได้อีก  จริงๆ ผมว่าเขาน่าจะให้ประเมินผลย้อนหลัง แล้วนำข้อดี ข้อเสียไปปรับปรุงงานในปีต่อๆ ไป"

"ผมคิดว่ามันมีประโยชน์นะครับ อาจจะไม่ได้เป็นรูปธรรมมากมาย  ก็ได้คอนเนคชั่นมา  แล้วก็พอจะทราบแนวทางว่าควรจะทำยังไงต่อๆ ไป มีช่องทางไหนบ้าง   อีกอย่างก็น่าจะเป็นในทางไปแสดงตัวตนในที่สาธารณะว่ามีหนังเรื่องนี้อยู่ในโลกละมั้งครับ"

   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.