สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   
หนังประกวด
  อัญชลี ชัยวรพร
  LINK :
   
 

Day 6

The Tree of Life ความฟุ่มเฟือยทางอารมณ์

 


 

ตอนดูช่วงแรกของหนัง ดิฉันค่อนข้างตะลึงในสิ่งที่เห็น ไม่เชื่อว่าฮอลลีวู้ดจะกล้าลงทุนทำหนังแบบนี้ The Tree of Life เริ่มหนังด้วยการนำหลักปรัชญาความคิดในการใช้ชีวิตของคนเป็นตัวนำเรื่อง โดยนำเสนอผ่านมุมมองของคน 2 คน คนแรกเป็นแม่ของลูกชาย 3 คน (นำแสดงโดย Jessica Chastin) มีแบรด์ พิทท์เป็นสามี เล่ามุมมองของเธอกับชีวิตในยุค 1950 ขณะที่อีกมุมมองหนึ่งผ่านสายตาของผู้ชายวัยกลางคนในยุคปัจจุบัน (รับบทโดยฌอนน์ เพนน์)

มุมมองของคนทั้งสองเล่าเรื่องผ่านความคิดเห็นของคนทั้งสอง หนังในช่วงนี้แทบไม่มีบทพูดในการดำเนินเรื่อง หรือถ้าจะมี บทพูดก็แค่เป็นเพียงไม้ประดับ เป็นเพียงส่วนเสริมสนับสนุนความคิดของคนทั้งสอง เน้นการใช้มุมกล้องแบบแทร็กกิ้งช็อตมาก ไม่ก็เคลื่อนไหวในลักษณะต่าง ๆ ตลอดเวลา ดนตรีที่ใช้จะเหมือนบทสวดหรือเพลงที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา

หลังจากที่แนะนำตัวละครเสร็จ หนังจะนำเสนอความคิดของคนทั้งสองตลอด เพราะฉะนั้น ภาพที่เห็นจะมีแต่อะไรแปลก ๆ เดี๋ยวก็เป็นไดโนเสาร์ เดี๋ยวก็เป็นป่า เดี๋ยวก็เป็นตึกสูง ๆ ซึ่งบอกตรง ๆ ว่าก็ตีความออกบ้าง ไม่ออกบ้าง แต่จับจุดได้ว่าส่วนใหญ่เป็นมุมมองอาลัยอาวรณ์ของตัวละครทั้งสองต่อครอบครัว ต่อบ้าน ซึ่งตอนจบเป็นตัวสนับสนุน ตัวละครทั้งสองต่างผูกพันกับบ้าน กับครอบครัวนี้มาก พวกเขาเคว้งคว้าง ถวิลหามันตลอด ซึ่งบอกตรง ๆ ว่า เทอเรนซ์ มาลิค เขาก็ทำตรงส่วนนี้ได้ดีในระดับหนึ่งนะคะ เราเข้าใจความรู้สึกเหงาและเศร้าลึก ๆ ของตัวละครตลอด มันเป็นงานแบบเอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์แบบเหงา ๆ

แต่เมื่อผ่านไปเกือบชั่วโมง หนังกลับมาใช้รูปแบบแนเรทีฟเหมือนเดิมในการเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นกับครอบครัวนี้ ความจริงแล้ว นี่น่าจะเป็นครอบครัวที่อบอุ่น แต่เพราะพ่อ (แสดงโดยแบรด พิทท์) เป็นคนเข้มงวดกับลูก ๆ มาก จนกลายเป็นเส้นตึง ฝ่ายภรรยาซึ่งทนนิ่งมาตลอด ทำอะไรช่วยเหลือลูกไม่ได้ แล้วเหตุการณ์จะเป็นอย่างไร คงต้องติดตาม

คือ ถ้าไม่ติดใจว่า ความจริงแล้ว หนังเรื่องนี้เนื้อหาไม่มีอะไรเลย แต่พยายามทำให้มันออกมาให้เป็นปรัชญาการใช้ชีวิต ทำให้มันยุ่งยากแล้ว หนังมันมีความดีอยู่บ้างในการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร รวมทั้งความอบอุ่นของหนัง รวมทั้งมุมกล้องและการถ่ายภาพ (ถ้าหนังเรื่องนี้จะได้รางวัลพิเศษเรื่องถ่ายภาพ ก็ไม่ต้องแปลกใจ) แต่ข้อเสียมันมีมากกว่า หนังมันเยื้อ ยุ่งยากอย่างไม่จำเป็น แถมการใช้ดนตรีประกอบที่ไม่เข้ากับหนังเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นแนวทดลองนั้น มันชวนให้นึกว่านี่เป็นหนังที่ทำเพื่อเผยแพร่คริสต์ศาสนาอย่างเลี่ยงไม่ได้

Day 5

House of Tolerance บ้านที่คุณแทบจะไร้ความอดทน

 

 

ถ้าจะมีหนังเรื่องใดที่จะห้ามไม่ให้ดู คงมีแต่หนังเรื่องนี้เท่านั้น House of Tolerance กลายเป็นหนังที่รวมทุกอารมณ์ที่จะขับไล่คุณออกจากโรงหนัง ตั้งแต่นอนหลับตั้งแต่ต้นเรื่อง กระสับกระส่าย อยากเดินออกอยู่หลายครั้ง แต่เผอิญนั่งอยู่กลางแถว ก็เลยทำอะไรไม่ได้ นอกจากทน ทรมาณตัวเอง กับหนังบ้าอะไรก็ไม่รู้ที่สามารถผลักคนดูออกจากโรงได้อย่างไม่น่าเชื่อ

House of Tolerance เป็นเรื่องราวของซ่องที่ฝรั่งเศสในยามรุ่งอรุณแห่งศตวรรษทที่ 20 …..หนังเริ่มเรื่องเมื่อปี คศ. 1898 จนถึงประมาณ คศ. 1900 โดยอวดอ้างว่าเปิดเผยโลกปิดของโสเภณีที่แทบจะไม่มีใครรู้ โดยนำเสนอภาพชายผู้มาซื้อบริการ และกลุ่มผู้หญิงที่ให้บริการ น่าจะเป็นซ่องชั้นสูง เพราะสามารถเลี้ยงผู้หญิงในซ่องได้ทั้งหมด มีหมอมาตรวจร่างกายให้ ไม่ได้เป็นซ่องที่ทรมาณหรือกักขังหน่วงเหนี่ยว (แม้ผู้กำกับจะบอกว่า ได้เปรียบเทียบโลกในนั้นดั่งเหมือนคุก) เพราะหญิงบริการบางคนก็ส่งจดหมายมาสมัครเอง แถมบางครั้งยังพาเหล่าหญิงบริการไปปิคนิคเที่ยวนอกบ้านด้วย

หนังมีปัญหามากในการนำเสนอทุกด้าน ตั้งแต่บทที่ไม่ได้ดูน่าติดตามเท่าไรเลย แรก ๆ ดูเหมือนจะมองเห็นมุมของชายผู้มาเที่ยว ต่อมาก็เป็นของหญิงบริการ แถมบทบางตอนก็ดูสลับไปสลับมา หนังพยายามเสนอสภาพทางจิตใจของหญิงบริการเหล่านั้น กับสภาพที่เหมือนคุกในซ่อง แต่มันไม่ออก นอกจากบทที่ดูเหมือนแค่ให้ผู้หญิงมาพูด รำพึง รำพัน องค์ประกอบอื่น ๆ ก็ไม่ช่วย

การแสดงที่น่าจะช่วย ก็ไม่ได้ช่วยเท่าไรนัก ไม่ว่าจะเป็นนักแสดงคนใดคนหนึ่งที่อาจจะเหนือกว่าคนอื่น ก็ไม่มี อ้าว ดูใหม่ อาจจะมาเป็นทีม แต่มันก็ไม่ได้คิด เราน่าจะเห็นความสัมพันธ์ มิตรภาพระหว่างเธอเหล่านั้น แต่มันไม่ทำให้รู้สึก มันเห็นอยู่อย่างเจือจางมากในตอนท้าย

สิ่งที่ดีของหนังมีแค่ 2 อย่าง คือ มุมกล้องและการเสนอภาพคุณเธอเหล่านั้นเหมือนภาพวาดของจิตรกร แต่มันก็ขัดแย้งกับการวางองค์ประกอบหนังด้านอื่น ๆ ของผู้กำกับ อาทิ ข้อจำกัดในเรื่องเสื้อผ้า มุมกล้องที่คับแคบ มันก็เลยไม่ได้ดูตื่นตาตื่นใจเลย

สิ่งเดียวที่ดิฉันชอบในหนังก็คือ การนำเพลงสมัยใหม่มาใช้ ซึ่งใส่อยู่ 4-5 ครั้ง เป็นเพลงป็อบร็อค เพลงมันเพราะ แล้วมาสอดคล้องกับตอนจบที่ใช้ภาพหญิงบริการในปัจจุบัน

ดิฉันมาอ่านข้อมูลหนังในตอนหลัง เห็นผู้กำกับพยายามอยู่หลายจุด ไม่ว่าเรื่องการใช้มุมกล้อง บทที่แบ่งเป็น 3 ช่วง เสื้อผ้า แสง แกก็วางแผนมาเยอะ ปัญหาก็คือเขาไม่สามารถรวมให้มันเป็นก้อนเดียวกันได้ ประกอบกับการนำเสนอในแต่ละองค์ประกอบมันไม่ได้ดูเจิดจ้า อาทิ เขาต้องการนำเสนอเรื่องเรือนร่างของผู้หญิง กล้องก็ไม่ได้ช่วย เขาต้องการเน้นมุมมองของผู้หญิง โดยให้เห็นกลุ่มชายผู้ซื้อบริการเพียงเบื้องหลัง ซึ่งก็ไม่จริง

The Artist หนังแบบนี้ใคร ๆ ก็ชอบ

 

 

เสียงตอบรับหนังเรื่องนี้สร้างความประหลาดใจอยู่ไม่น้อย  เพราะเนื้อเรื่องและวิธีการเล่าเรื่องมันไม่ได้ยิ่งใหญ่มากนัก  แต่มันเป็นหนังที่ยกย่องและให้เกียรติกับหนังเงียบ  ด้วยการรักษาภาพยนตร์เงียบยุคขาวดำทั้งหมด ทั้งเรื่องไม่มีบทพูดเลย ยกเว้นตอนจบ มีเพียงดนตรีประกอบ ไดอะล็อกลิสต์ กับเสียงที่แสดงการเข้ามาของหนังเงียบในตอนท้าย

The Artist เล่าเรื่องชีวิตของจอร์จ วาเลนติน นักแสดงหนังยุคเงีัยบชื่อดัง หนังเริ่มในช่วงรอยต่อที่หนังเงียบรุ่งเรืองและกำลังจะตายจากไป   ด้วยการทดแทนของหนังเสียง ระหว่างปี 1927 - 1931 ขณะที่เขากำลังรุ่งโรจน์สุดขีด เพ็พพี้ มิลเลอร์ เป็นเพียงแฟนคลับที่หลงใหลในตัวจอร์จ   เธอก้าวเข้าสู่วงการหนังด้วยการเป็นตัวประกอบ  ก่อนที่จะีมีโอกาสรุ่งโรจน์จากหนังเสียง ซึ่งจอร์จ วาเลนตินก็กำลังจะตายจา่กไปจากวงการนั่นเอง   

จอร์จไม่ยอมเปลี่ยนมาทำหนังเสียง  เขาลงทุนเงินและทรัพย์สมบัติเพื่อรักษาศิลปะของหนังเงียบ  เขาบอกว่าเขาเป็น "ศิลปิน" ไม่ใช่นักแสดง เขาเกือบจะตายไป ถ้าไม่ใช่เพราะหมาที่เลี้ยงไว้ช่วยชีวิต ก่อนที่จะตามมาด้วยความพยายามปลุกปั้นเขาขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยเพ็พพี้ มิลเลอร์

ตลอดทั้งเรื่องหนังจะดูสนุกด้วยบทที่สนุุก ขบขัน เศร้า พร้อมทั้งการควบคุมทุกอย่างภายใต้โหมดของหนังเงียบได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งการแสดงที่เกินจริง (โอเวอร์แอ็คติ้ง) ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการแสดงในยุคหนังเงียบที่เทคนิคภาพยนตร์ยังไม่พัฒนาพอที่จะถ่ายทอดการแสดงและอารมณ์แบบเหมือนจริง  ความสำคัญของดนตรีประกอบในการสนับสนุนการสร้างบรรยากาศและถ่ายทอดอารมณ์ของตัวละคร การจัดแสงเงาทั้งในช่วงรุ่งเรืองและตกต่ำของจอร์จ รวมทั้งการแสดงของนักแสดงนำทั้งสอง

สิ่งที่ผู้เขียนชอบมากที่สุดในหนังเรื่องนี้คือ การแนะนำผู้ชมอย่างเราเข้าสู่การชมหนังเงียบ ด้วยการนำเสนอภาพการฉายหนังเงียบเช่นกัน ซึ่งเราจะำได้เห็นจอร์จมาทักทายผู้ชมในตอนจบด้วย รวมทั้งบทเล็ก ๆ ที่จอร์จโต้ตอบเพ็พพี้ว่า เราเป็นคนปูทางให้พวกเธอ (We made the way for you). เมื่อเพ็พพี้ให้สัมภาษณ์นักข่าวว่า ปล่อยพวกหัวเก่าอย่างหนังเงียบออกไป เธอเป็นคนรุ่นใหม่ที่ทุกคนได้ยินเสียง หรือการนำเสนอจุดเชื่อมต่อระหว่างหนังเงียบและหนังเสียงได้อย่างชาญฉลาดมาก ลองนึกดูสิคะ เราถูกนำไปสู่บรรยากาศแบบหนังเงียบอยู่ดี ๆ ทันใดนั้นก็มีเสียงขึ้น จากการวางแก้วน้ำลงบนโต๊ะ จากนั้นทุกอย่างก็มีเสียง ในบรรยากาศตอนนั้น มันทำให้รู้สึกมีพลังของหนังเสียงมากเลยค่ะ แถมในตอนท้ายที่จอร์จได้กลับมาเล่นหนังอีกครั้ง เราจะได้ยินเสียงเขาเป็นครั้งแรก และตลอดทั้งเรื่อง เราจะได้ยินเสียงเขาเพียงคำเดียวว่า My pleasure.

แต่หนังตั้งใจให้มันเป็นดราม่าไปหน่อย ไม่ว่าจะเป็นความรักความเทิดทูนของเพ็พพี้ที่มีต่อจอร์จ  รวมทั้งเลขาคนสนิทที่จงรักภักดี และหมาส่วนตัวที่รักเจ้านายและฉลาดมากที่สุด มันเหมือนจริงกับแฟนตาซีผสมกัน

Day 4

The Kid with a Bike ไปได้ครึ่งเรื่องของพี่น้องดาร์เดนน์

 


จริง ๆ แล้ว ดิฉันเกือบจะได้หนังที่ดีที่สุดของเทศกาลแล้ว ขณะที่ได้ชมภาพยนตร์ของสองผู้กำกับ Jean-Pierre และ Luc Dardenืe เรื่องนี้ แต่เมื่อผ่านไปถึงตอนจบ ก็ให้เสียดายยิ่งนักที่จะบอกว่า ดิฉันยังต้องมองหาหนังที่ดีที่สุดต่อไป

The Kid with a Bike เล่าเรื่องราวของซีรีล เด็กชายที่เพิ่งเข้าไปอยู่ในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าได้ไม่นาน พ่อเขารับปากว่าจะมารับเขากลับหลังจากหนึ่งเดือน แต่เขาไม่เคยติดต่อกลับ ซีรีลพยายามโทรศัพท์กลับไปที่บ้านเดิมอีกครั้ง แต่สายไม่มีคนรับ แม้เจ้าหน้าที่ดูแลตึกบอกเขาแล้วว่าพ่อย้ายออกไปแล้ว ซีรีลตัดสินใจหนีกลับไปบ้านเดิมอีกครั้ง แล้วเขาก็ไม่พบพ่อจริง ๆ

ทุกครั้งของความพยายามตามหาพ่อ ซีรีลจะถามถึงจักรยานเสมอ เมื่อซีรีลพบความจริงว่าพ่อได้ย้ายหนีไปแล้วจริง ๆ ซีรีลมีโอกาสได้พบกับเจ้าของร้านเสริมสวยซามานธา ขณะที่เขาหนีกลับไปบ้าน เขาหลบเจ้าหน้าที่สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าเข้าไปในคลีนิค และโผเข้ากอดซาแมนธาที่กำลังมาหาหมอพอดี ซาแมนธายอมให้เด็กชายกอด และเมื่อเธอทราบว่าซีรีลตามหาพ่อและจักรยาน เธอก็ช่วยหาจักรยานของเขา และซื้อกลับคืนมาในที่สุด ซีรีลขอให้ซาแมนธาช่วยรับเขาไปอยู่เฉพาะวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เธอตกลง และนั่นนำไปสู่ความสัมพันธ์ของหญิงสาวกับเด็กน้อย

ซาแมนธาช่วยซีรีลตามหาพ่อ จนเขาได้พบว่าพ่อไม่ต้องการเขาเลย พร้อมทั้งช่วยเขาให้หลุดพ้นจากโลกของอาชญากร

หนังเล็ก ๆ ที่เริ่มจากเหตุการณ์เดียว เพียงฉากเดียว เมื่อซีรีลพยายามโทรศัพท์หาพ่อไปที่บ้านเดิม ก่อนจะตามมาด้วยขบวนการเหตุการณ์ที่ทำให้ผู้ชมไม่อาจนำสายตาให้หลุดพ้นจากจอภาพยนตร์ได้ ด้วยการเคลื่อนไหวของเด็กชายตลอดเวลา

ช่วงครึ่งแรกของหนังดีมากเลยค่ะ ตั้งแต่ซีรีลตามหาพ่อ จนเขาได้จักรยานมาและพบความจริงที่เจ็บปวด หนังเคลื่อนไหวตลอดเวลา ด้วยการควบคุมทุกอย่างให้ขับเคลื่อนได้อย่างกระชับ และเต็มไปด้วยความรู้สึกมากมาย จากการแสดงของนักแสดงทั้งหมด โดยเฉพาะซีรีล ซาแมนธา รวมทั้งการใช้มุมกล้องและการตัดต่อที่ลื่นไหล ทุกอย่างมันกลมเป็นก้อนเดียวกันได้อย่างไม่น่าเชื่อ หลาย ๆ ฉากไม่มีคำพูด ไม่ได้ใช้ภาพโคลสอัพที่นักแสดง แต่มันทำให้เรารู้สึกใจหาย เข้าใจถึงความรู้สึกของตัวละครว่าพวกเขาจะเจ็บปวดอย่างไร อาทิ ฉากระหว่างซาแมนธากับซีริลที่อยู่ในรถ ขณะที่เขาตามหาพ่อเจอในที่สุด ซีรีลบอกซาแมนธาว่าเขาทิ้งมือถือให้พ่อแล้ว พ่อบอกว่าจะโทรมาหา ซาแมนธารู้ดีว่าพ่อของซีรีลจะไม่ทำแน่นอน เพราะเขาเพิ่งบอกเธอว่าอย่าพาลูกมาหาเขาอีก ซาแมนธาตัดสินใจพาซีรีลไปหาพ่อ และบอกให้เขาบอกเด็กน้อยเอง ดิฉันรู้ว่าเด็กชายจะต้องทรมาณเพียงไรที่จะรอคอยโทรศัพท์ของพ่อเสมอ บอกตรง ๆ สองฉากในรถ (ก่อนและหลังที่เธอพาซีรีลไปหาพ่อ จะทำให้คุณน้ำตาตกในอย่างช่วยไม่ได้

Michael ความน่าเบื่อเพื่อพลังในฉากจบ

 


 

ถ้าจะมีหนังเรื่องไหนที่ทำให้คุณต้องเปลี่ยนความรู้สึกกะทันหัน จากความน่าเบื่ออย่างสุด ๆ มาเป็นความรู้สึกที่ไม่อยากเปลี่ยนสายตา คงไม่มีเรื่องไหนที่สามารถทำได้เท่าเรื่องนี้ Michael ของ Markus Schleinzer

Michael เล่าเรื่องราวของชายวัยสามสิบห้านามไมเคิลที่อยู่กับเด็กชายคนหนึ่ง ไมเคิลยังคงทำงานไปตามปรกติ ขณะที่เด็กชายก็ดำเนินชีวิตกับเขาอย่างปรกติเช่นกัน ทุกอย่างมันดูธรรมดา เด็กชายวาดรูป อ่านหนังสือ ไมเคิลก็ไปทำงานในตอนเช้า สังสรรค์กับเพื่อนฝูง ฉลองวันคริสต์มาสร่วมกับเด็กชาย เขาให้หนังสือ Harry Potter กับเด็กชาย เด็กชายวาดรูปตนเองกับไมเคิล มันดูธรรมดามาก จนไม่มีใครรู้สึกถึงความปรกติบางอย่าง


ความผิดปรกติ ที่ว่าไมเคิลต้องเปิดประตูลับในห้องใต้ดินแห่งนี้ตลอดเวลา (ซึ่งต่อมาเปิดเผยว่ามันคือห้องที่เด็กชายพักพิง) ไมเคิลฉีกภาพที่เด็กชายวาดให้กับเขาในฐานะของขวัญวันคริสต์มาสทิ้งไป ยิ่งเรื่องดำเนินมาถึงฉากจบเมื่อไร หนังก็ยิ่งเปิดเผยให้เห็นว่าเหตุการณ์ที่ดูนิ่ง ๆ ธรรมดานั้น แท้ที่จริงแล้วมันแฝงความผิดปรกติอยู่ อาทิ ไมเคิลรีบปิดข่าวการลักลอบขโมยเด็ก รวมทั้งความพยายามหลบหนีของเด็กชายอยู่หลายครั้ง

สิบห้านาทีสุดท้ายเป็นฉากจบที่ทำให้ผู้ชมแทบไม่อยากละสายตา เมื่อเด็กชายซึ่งจริง ๆ แล้วถูกขังอยู่ในห้องใต้ดินตลอด ต้มน้ำร้อน แล้วนำมาสาดหน้าไมเคิลทันทีที่เขาก้าวเข้าสู่ห้อง ไมเคิลยังคงจับเด็กนำมาขังไว้ได้เหมือนเดิม เขารีบไปโรงพยาบาล แต่ไปได้ไม่กี่นาที รถคว่ำ เขาตายในที่สุด

งานศพดำเนินไป แม่และพี่ชายเป็นคนจัดการ พวกเขาต้องรอวันว่างที่จะมาเก็บข้าวของไมเคิล พวกเขาตรวจสอบของในห้องนอน สมบัติส่วนตัว ไปห้องใต้ดินหลายครั้ง แต่ไม่มีใครเห็นประตูลับสู่ห้องใต้ดิน ….วินาทีสุดท้าย แม่ไมเคิลเห็นเข้า เธอจับกลอนประตู ….หนังจบแค่นั้น

Michael อาจจะเป็นหนังที่ถูกโห่มากที่สุด แต่สิบห้านาทีสุดท้ายก็แสดงว่า Markus Schleinzer เป็นผู้กำกับที่น่าจับตามองต่อไป

 

   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.