สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   
หนังประกวดร้อน ๆ
  เรื่อง และ ภาพ โดย อัญชลี ชัยวรพร
  LINK : เมนูรวมรายงานเทศกาลหนังเมืองคานส์
   
 

23 May 2009

Face ไฉ่หมิงเหลียงภาคฝรั่งเศส

 


 

ความจริงอย่างหนึ่งที่ดิฉันเห็นในหนังประกวดปีนี้  ก็คือ มีหนังของผู้กำกับนานาชาติหลายคน  พยายามจะสร้างงานที่มีคอนเน็คชั่นกับฝรั่งเศส  ไม่ว่าจะเป็นพระเอกอดีตนักฆ่าใน Vengenace (ตู้ฉีฟง)  เหตุการณ์เกิดขึ้นในฝรั่งเศสอย่าง Inglorious Basterds  รวมทั้ง Face หนังเรื่องล่าสุดของไฉ่หมิงเหลียง

Face เป็นเรื่องราวของผู้กำกับหนังชาวไต้หวัน  ที่กำลังทำหนังเกี่ยวกับตำนานลึกลับซาโลเม่ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟว์ร์   เขาเลือกดาราฝรั่งเศสชื่อ Jean-Pierre Leaud (ดาราเด็กชายที่เล่นใน 400 Blows) ของทรุฟโฟต์  แต่เจ้าของบริษัทกลับคัดเลือกนางแบบระดับโลกเล่นแทน  ทำให้หนังมีปัญหามากขึ้น  พร้อม ๆ กับทีข่าวเรื่องแม่ของผู้กำกับเสียชีวิต  จนโปรดิวเซอร์สาวตัดสินใจเดินทางกลับไปไต้หวัน

 นักแสดงคนที่รับบทผู้กำกับนี้ก็คือดาราคู่ใจลีกังเชง  Face เป็นหนังที่ไฉ่หมิงเหลียงต้องการจะเล่าเรื่องราวและประสบการณ์การทำหนัง  และอาจจะเป็นเรื่องราวของเขาเองด้วยซ้ำ  เพราะหนังจะอ้างอิงผลงานเก่า ๆ ของเขาหลาย ๆ เรื่อง  ไม่ว่าจะเป็น The River หรือ What Time Is It There?  หนังคัดดารานำฝรั่งเศสมาเล่นหลายคนมาก  จนดูไม่ออกว่านี่เป็นหนังฝรั่งเศส  ถ้าไม่ใช่ม่ลีกังเชงอยู่คนเดียว

หนังดูยากมากค่ะ  ขอนั่งคิดให้มันตกตะกอนออก  แล้วจะมาเล่าต่อในภาคสรุปนะคะ    

Map of the Sounds of Tokyo หนังที่ถูกโห่มากที่สุด

 

 

หนังของอีกผู้กำกับหญิง Isabel Coixet เรื่องนี้  ฉายเกือบเป็นหนังประกวดเรื่องสุดท้าย  แต่ก็ไม่สามารถชนะใจนักวิจารณ์ได้  จนกลายเป็นหนังที่ถูกโห่มากที่สุดในงานนี้

เรื่องราวความรักของหญิงญี่ปุ่นกับหนุ่มสเปนในใจกลางกรุงโตเกียว  เธอเป็นคนเหงา  คิดมาก  จึงตัดสินใจรับจ้างทำงานในตลาดปลาสึกิจิกลางกรุงโตเกียว  เพื่อว่าจะได้ไม่คิด  แม้ว่าในความเป็นจริงแล้ว  เธอคือลูกสาวของเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทแห่งหนึ่ง  เธอพบรักกับหนุ่มสเปน  ซึ่งเปิดร้านขายไวน์ที่นั่น  หน้าตาดูมีความสุขขึ้น  แต่มันก็เพียงชั่วครู่เท่านั้น

หนังเล่าเรื่องผ่านชายแก่คนหนึ่ง  ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเพื่อนสนิทของเธอคนเดียว  Map of the Sounds of Tokyo เป็นหนังที่ดูง่าย ๆ  เรื่องราวของคนเหงาใจกลางกรุงโตเกียว  ที่มาพบกัน  รักกัน  แต่เพราะอุปสรรคบางอย่าง  ก็เลยทำให้รักนั้นต้องชะงักลง

ดิฉันดูเรื่องนี้แล้วนึกถึง Lost in Translation พิกล  เพียงแต่เปลี่ยนคู่จากคนอเมริกันสองคน  มาเป็นหนุ่มสเปนกับสาวญี่ปุ่น  แต่อาจจะน่าสนใจกว่าหน่อยหนึ่ง  ตรงที่ผูกคนเล่าเรื่องเป็นชายวัยกลางคน  และพ่อของริโย่  บทของนางเอกญี่ปุ่นดูมีเสน่ห์  เท่ดี  ไม่เหมือนบทนางเอกในเรื่องแรก  แต่หนุ่มสเปนที่เป็นพระเอกนั้น  ไม่ได้ดูจะเป็นพระเอกได้เลย  ท้วม ๆ อ้วน ๆ  ไม่น่ารัก

หนังมีเสน่ห์อย่างเดียวเรื่องนี้  คือ บทเพลง  ซึ่งส่วนใหญ่อาจจะเป็นไปตามชื่อเรื่อง  แรก ๆ หนังน่าสนใจนะ  ในแง่ของความพยายามถ่ายทอดเสียงในโตเกียวในอีกแง่หนึ่ง  แต่ผู้กำกับทำไม่ต่อเนื่อง  ก็เลยกลายเป็นหนังธรรมดา ๆ  ที่แลดูเป็นฮอลลีวู้ดเท่านั้นเอง

 

22 May 2009

Enter the Void วงเวียนแห่งความทรมาณและไร้รสนิยม

 

 

ถ้าจะมีหนังเรื่องใดเรื่องหนึ่งในเทศกาลหนังเมืองคานส์ปีที่ 62 นี้ ที่ถือว่าไร้รสนิยมมากที่สุด   น่ารำคาญมากที่สุด คงไม่มีเรื่องใดที่อาจกล่าวได้ว่า กวนใจคนดูได้เท่าเรื่องนี้ (ให้ตายเถิด)

กว่า 2 ชั่วโมง 45 นาทีนั้น  หนังเต็มไปด้วยการย่ำอยู่กับที่  ซ้ำภาพแล้วซ้ำเล่า  ไม่ได้เดินหน้า  ไปไหน  น่ารำคาญสุด ๆ   หนังเรื่องนี้ดูแค่ชั่วโมงเดียวก็พอแล้ว  เสร็จแล้วให้ออกไปดูเรื่องอื่นสักหนึ่งชั่วโมงครึ่ง หรือไปนอนเล่น  ก่อนมาตามสิบห้านาทีสุดท้ายก็พอ

หนังเล่าเรื่องของพี่น้องสองคน ออสการ์กับลินดาที่รักกัน  แต่มีเหตุให้ต้องพรากจากกัน  หลังจากที่พ่อแม่เสียชีวิตกะทันหันตั้งแต่เด็ก  ออสการ์ตามมาหาลินดาเจอที่ญี่ปุ่น  เธอมีอาชีพเต้นระบำโชว์  ต่อมาออสการ์ถูกยิงตาย  แล้วลินดาก็ชีวิตออกนอกลู่นอกทางไปเลย

Gaspar Noe เล่นกับภาพที่ตอนแรก ๆ ดูเหมือนน่าสนใจ  กล้องมักจะเจาะไปยังวัตถุกลม ๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง เสร็จแล้วก็เจาะลึกลงไป ๆ  ก่อนที่จะปล่อยภาพใหม่ออกมา  หลังจากนั้นกล้องก็จะวนเวียนถ่ายเล่าเหตุการณ์ โดยใช้มุมกล้องอยู่เหนือวัตถุ  โดยเฉพาะ Bird Eyeview  ภาพไม่ค่อยตัด  วนเวียนอยู่อย่างนั้นแหล่ะ  จะตัดภาพที  ก็ทำให้เหมือนกล้องกะพริบบ้างล่ะ  ปล่อยให้เป็นภาพมืดบ้างล่ะ   ส่วนออสการ์นั้น  กล้องแทบจะไม่ให้เห็นหน้าเขาเลย  กล้องถ่ายจากด้านหลังของเขาตลอด

ปัญหาของ Noe ก็คือ เขามีเรื่องอยู่แค่นิดเดียว  แต่ย้ำภาพ  ย้ำวิธีการเก่า ๆ อยู่ตลอดเวลา  มันไม่ได้ไปไหน  เขาอาจจะมีเจตนาที่จะถ่ายทอดเรื่องการประกอบกามกิจนั้นเป็นเรื่องเก่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า  เพราะเมื่อหนังมาเฉลยตอนหลัง  (และด้วยความที่ดิฉันรำคาญหนังมาก ขอเฉลยตอนจบ) Enter the Void คือ การสอดเข้าไปในช่องคลอดของผู้หญิงนั่นเอง  มันก็น่ารำคาญอยู่ดี  

ขณะดูหนัง คนดูข้าง ๆ ก็ยิ้มให้กำลังใจ  เมื่อเห็นดิฉันดูนาฬิกาครั้งแล้วครั้งเล่า คือ ดิฉันอยากเดินออกเป็นอย่างยิ่ง  แต่ดันนั่งกลาง จะออกก็ออกไม่ได้  น่าเบื่อมาก

รอบที่ฉายนั้นเป็นรอบของทางการด้วย  ทางเทศกาลคงพอจะรู้ตัวหนังได้ดี  ก็เลยฉายหนังแค่ 2 รอบ  ไม่มีรอบเพรสอย่างเป็นทางการ  ดิฉันก็เลยได้ดูพร้อมกรรมการ  ซึ่งผู้กำกับจะเข้ามาดูด้วย  และเป็นรอบที่จะไม่ค่อยมีประเพณีโห่

ผลปรากฎว่า จบหนังเรื่องนี้แล้ว  นักข่าวที่ไม่ได้มีมากมายนัก  ก็ยังโห่อยู่ดี  และนับเป็นหนังที่ถูกโห่มากที่สุด 

The Time That Remains

 

 

The Time That Remains Elia Suleiman ที่เล่าชีวิตความเป็นอยู่ในปาเลสไตน์ตั้งแต่ปี 1948  โดยนำเรื่องราวมาจากไดอารี่ของพ่อ  จดหมายถึงญาติของแม่  รวมทั้งความทรงจำของเขาเองตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบัน  เพื่อถ่ายทอดชีวิตความเป็นอยู่ของคนเชื้อชาติอาหรับ- ปาเลสไตน์  ที่ต้องกลายเป็นชนกลุ่มน้อยในบ้านเกิดของตนเอง  หลังจากที่ประเทศถูกยึดครองโดยอิสราเอล

ผู้กำกับ Elia Suleiman สามารถถ่ายทอดชีวิตและความรู้สึกต่อบ้านเกิดของตัวเองได้ดีเหมือนเดิม  หนังนำมาจากแหล่งต่าง ๆ ถึง 4 อย่าง  แต่เขาสามารถนำมาร้อยให้มันเข้ากันได้อย่างราบรื่น  หลาย ๆ ตอนดูสนุก  ตลกบนความขมขื่น  โดยเฉพาะช่วงครึ่งชั่วโมงสุดท้ายที่ผู้กำกับออกมาเล่นหนังเอง

ดิฉันค่อนข้างชอบที่เขานำมุมมองและเรื่องราวจากครอบครัว  เพื่อมาถ่ายทอดชีวิตประจำวันในปาเลสไตน์ที่เกิดขึ้น  มันดูหมดหวัง  อ้างว้าง  แต่ดิฉันไม่แน่ใจว่าหนังจะไปถึงดวงดาวได้หรือไม่  เพราะหลาย ๆ ตอนมันดูช้า  และไม่มีอะไรตื่นเต้น  The Time That Remains เป็นหนังธรรมดาที่ดูดีเรื่องหนึ่งเท่านั้น

 

21 May 2009

In the Beginning เสียงเชียร์มาแรงที่สุด

 



สิ่งที่จะเขียนต่อไปนี้  อาจจะไม่ตรงกับสื่อส่วนใหญ่นะคะ  ดิฉันดูหนังเรื่องนี้ด้วยความเบื่อ  ดูนาฬิกาครั้งแล้วครั้งเล่า  แต่เห็นเสียงปรบมือหลังจากหนังแล้วแปลกใจ  เพราะมันดังที่สุด

In the Beginning นำมาจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศส     เรื่องราวการโกหกหลอกลวงของอดีตนักโทษพอลที่หลอกลวงคนทั้งเมือง  ว่าเขาได้รับมอบหมายจากบริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ให้มาคุมก่อสร้างไฮเวย์ขนาดใหญ่  ไม่มีใครรู้ว่าเรื่องราวทั้งหมดมันเป็นการโกหกทั้งมวล 

เนื้อเรื่องของหนังดีนะคะ  พร้อมทั้งกับการแสดงของนักแสดงหลักฟรังซัวส์ ครูโซต์  เขาอาจจะเริ่มมาจากการหลอกลวงคนทั้งเมือง หรือคนทั้งประเทศเพื่อความอยู่รอด  แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น  เขาทำเพื่อคนทั้งหมด  เพื่อคนส่วนใหญ่  เมื่อบริษัทดำเนินไปได้  เขาสามารถนำเงินแล้วหนีไปได้  แต่เขาไม่ทำ  เขารู้ว่ากิจการทั้งหมดเป็นความหวังของคนของเขา  เขาถึงกับไปสารภาพกับบริษัทยักษ์ใหญ่  ว่าให้เอาผิดกับเขาคนเดียว  แต่ให้ว่าจ้างคนงานของเขาต่อ 

บทมันดีค่ะ  หนังก็ดำเนินเรื่องไปได้เรื่อย ๆ  แต่มันไม่มีเสน่ห์  มันไปของมันเรื่อย ๆ  ไม่มีอะไรมากระตุก  พอดูไป  ดิฉันรู้สึกเบื่อ  ดูนาฬิกาครั้งแล้วครั้งเล่า มันเป็นหนังดราม่ดี ๆ เรื่องหนึ่งเท่านั้น

The White Ribbon ไมเคิล ฮันเนเก้ ยังแหลมคมอยู่ดี


 

The White Ribbon เป็นหนังขาวดำตลอดทั้งเรื่อง  เป็นหนังที่ฮันเนเก้กลับไปเล่าเรื่องโดยใช้ภาษาเยอรมันของตัวเอง  และเป็นหนังที่ทำให้ดิฉันรู้สึกว่า The master is always there.

เรื่องราวย้อนกลับไปเมื่อปี คศ. 1913 – 1914 ก่อนที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ในเยอรมนี  ในหมู่บ้านโปรแตสเตนท์เล็ก ๆ แห่งหนึ่งทางภาคเหนือของเยอรมนี  แรก ๆ ดูเหมือนจะไม่มีอะไร  แต่มันมีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมาย  เมื่อมีเด็กถูกทำร้ายร่างกาย  คน ๆ หลายคนที่เข้ามาเกี่ยวข้อง  ไม่ว่าจะเป็นหมอ  บารอน  นักเรียนคนอื่น ๆ

หนังเล่าผ่านสายตาของครูในหมู่บ้านนี้  นอกจากจะใช้ภาพขาวดำเพื่อถ่ายทอดความเป็นไปของเยอรมนีในช่วงก่อนเกิดสงคราม  เขายังจำกัดเทคนิคบางอย่างเพื่อแสดงให้เห็นความเยือกเย็นในหมู่บ้านนี้  มุมกล้องส่วนใหญ่จะแช่  และตั้งอยู่ในระดับกลาง (medium-shot)  ฉากส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงหน้าหนาว  แทบไม่เห็นความรื่นรมย์ในหนังเรื่องนี้  ซึ่งมันสนับสนุนด้วยการแสดงที่ดูเจตนาจะควบคุมให้มันดูแข็ง ๆ  ดิฉันค่อนข้างชอบนะคะกับหนังเรื่องนี้  แต่คนส่วนใหญ่เขาจะเฉย ๆ กัน

 
  

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.