สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   

หนังประกวดร้อน ๆ

  เรื่อง และ ภาพ โดย อัญชลี ชัยวรพร
  LINK : เมนูรวมรายงานเทศกาลหนังเมืองคานส์
   
 

24 May 2008

โค้งสุดท้ายหนังประกวดเมืองคานส์   หนังประกวดฉายไปแล้ว 18 เรื่อง  เหลือเพียง 4 เรื่อง  ปรากฏว่า สิ่งที่ผู้เขียนสงสัยมาตลอด  ดูเหมือนจะเป็นความจริง  นั่นก็คือ ทางเทศกาลเก็บหนังดี ๆ ไว้วันท้าย ๆ   ผิดจากเมื่อก่อนที่จะเก็บหนังดี ๆ ไว้ช่วงกลาง  ทำให้หนังที่ออกฉายตั้งแต่วันพุธที่ผ่านมา  ส่วนใหญ่จะได้รับผลตอบรับค่อนข้างดี

โดยสรุปแล้ว  หนังที่น่าจะมีสิทธิ์ลุ้นในปีนี้  ซึ่งดูจากประธานกรรมการและกรรมการท่านอื่น ๆ ด้วย  คาดว่าหนังที่มีประเด็นการเมืองน่าจะมีสิทธิ์ลุ้นมากที่สุด ทั้ง Sean Penn  ซึ่งเป็นคนแอนตี้บุชอย่างเปิดเผย  ผู้กำกับ Rachid BOUCHAREB ซึ่งทำหนัง Days of Glory หนังที่พูดถึงคนมุสลิมที่เคยออกไปทำสงครามโลกครั้งที่สอง  แต่โลกไม่เคยรับรู้  หรือ Marjane Satrapi ผู้กำกับแอนิเมชั่น PERSEPOLIS ที่เล่าเรื่องการเมืองอิหร่านเมื่อปีที่แล้ว 

แล้วในปีนี้  ก็มีหลายเรื่องที่ถกประเด็นการเมือง  หนังที่ได้รับเสียงกระแสตอบรับจากสื่อมากที่สุดในขณะนี้ ได้แก่  Adoration ของอะตอม อีโกยัน   และ Il Divo หนังที่คนดูสนุกในการดู  แต่เสียงปรบมืออาจจะไม่ดังมากนัก  กำกับโดย Paolo Sorrentino เป็นหนังตลกร้ายที่เสียดสีระบบการเมืองและมาเฟียของอิตาลี  เมื่อคนหน้าตายที่ทำหน้า passive ตลอดอย่าง Giulio Andreotti  ได้เป็นผู้นำของประเทศ  และทำเรื่องร้ายแรงต่าง ๆ ภายใต้ใบหน้าที่ดูไร้อารมณ์เช่นนั้น  จนกระทั่งเขาเกิดปะทะกับมาเฟีย  นำไปสู่การเปิดโปงโฉมหน้าที่แท้จริงของเขา  



ดูเนื้อเรื่องแล้ว Il Divo คงจะเป็นหนังซีเรียส  แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่อย่างนั้นเลย  ผู้กำกับ Paolo Sorrentino เป็นหนึ่งในผู้กำกับที่เคยได้รับรางวัลมาแล้วครั้งหนึ่ง  เพราะฉะนั้น  คนดูถึงเข้าคิวดูหนังเรื่องนี้มาก  เป็นหนังที่เห็นอิทธิพลการทำงานของผู้กำกับอยู่เยอะมาก  จนสามารถเรียกเขาว่า auteur ก็ไม่ผิด Il Divo ได้รับการออกแบบทุกอย่างทุกขั้นตอนอย่างพิถีพิถัน   ไม่ว่าจะเป็นการวางตัวละคร  ออกแบบลักษณะหน้าตาและการแสดงของตัวละคร  การเคลื่อนกล้อง มุมกล้อง ที่มีทุกกระบวนการ  ตั้งแต่  bird eyeview, long shot, close shot และอื่น ๆ  รวมถึงการตัดต่อที่มีหมด ทั้ง dissolve, fast cut  ดนตรีที่มีทั้งร็อค  ป็อบ  คลาสิค  จนอาจเรียกได้ว่า นี่เป็นผลงานที่นักเรียนหนังทุกคนควรดูเพื่อจะเข้าในเทคนิคพื้นฐานของการทำหนังได้

ผู้เขียนคาดว่า ถ้าไม่ได้รับรางวัลปาร์มดอร์  ก็น่าจะได้ผู้กำกับยอดเยี่ยมไป  แต่สำหรับผู้เขียน รางวัลหลังเหมาะกับเขามากกว่า  เพราะหนังมีปัญหาเนื้อเรื่องสักนิด  รายละเอียดค่อนข้างเยอะ  จนคนอาจจะไม่เข้าใจเนื้อเรื่อง

Waltz with Bashir ก็มีคนชอบหลายคน  แต่คนเขียนไม่ชอบเท่าไร  ส่วนเป็นอย่างไร  ให้อ่านจากรายงานก่อนหน้านี้

ส่วนอีกเรื่องหนึ่งที่คนค่อนข้างชอบ ได้แก่ L’Exchange ของคลินท์ อีสต์วู้ด  แม้เสือเฒ่าจะทำเรื่องนี้ได้ดีขึ้น  แต่ก็ยังเป็น mainstream อยู่  รวมทั้ง A Christmas Tale ก็ถือว่ามีบทค่อนข้างดี  แต่เนื้อเรื่องที่เป็นเรื่องครอบครัว  อาจจะทำให้หนังไปไม่ถึงดวงดาว

ยังมีหนังที่ไม่ได้ดูอีก 4 เรื่อง ก็คือ Synecdoche, New York โดย Charlie Kaufman, My Magic โดย Eric Khoo, The Palarmo Shooting โดย Wim Wenders และ The Class โดย Laurent Cantet


 

Two Lovers โดย James Gray  เป็นหนังที่ให้ความรู้สึกดี ๆ  ดูแล้วสบายใจ  เรื่องราวของชายหนุ่มช่างภาพ  ที่ตัดสินใจย้ายไปอยู่กับพ่อแม่หลังจากอกหัก  ที่นั่นเขาได้พบกับผู้หญิงสองคน  คนหนึ่งเป็นหญิงสาวที่ไปมีความสัมพันธ์กับคนที่มีครอบครัวแล้ว  และอีกคนที่พ่อแม่สนิทกับพ่อแม่ของเขา  เขาตกหลุมรักสาวคนแรก  แต่เพราะโชคชะตา  เขาตัดสินใจผูกรักกับสาวคนที่สอง  และถ้าเพียงแต่ สาวคนแรกไม่โทรศัพท์เข้ามาขอความช่วยเหลือจากเขาในคืนหนึ่ง  เขาก็คงมีความสัมพันธ์กับลูกเพื่อนพ่อแม่ต่อไป 

หนังเรื่องนี้มีทั้งคนชอบและไม่ชอบ  คนที่ไม่ชอบก็เพราะเห็นว่ามันง่ายเกินไป  แต่สำหรับผู้เขียน  นี่เป็นหนังเนื้อเรื่องธรรมดาที่ดีเรื่องหนึ่ง  ดูจบแล้วก็ให้ความรู้สึกดี ๆ  อย่างหนึ่งเพราะการใช้ชีวิตของพระเอกในเรื่องนี้  ไม่แตกต่างจากคนเอเชียมากนัก  สนิทสนมและอยู่กับพ่อแม่ที่มีกิจการส่วนตัว  แต่จะได้รับรางวัลจากคานส์เลย  คงจะยากหน่อย



Delta โดย Kornel Mundruczo เป็นหนังฮังการี  ที่มีสไตล์น่าสนใจ  ผู้กำกับชอบใช้ลองช็อตเป็นอันมาก  ทำให้เราคนดูเหมือนผู้สังเกตการณ์อยู่ไกล ๆ  แอบมองความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวหนึ่ง  หนังเริ่มเรื่องจากลูกชายของบ้านกลับมา  และได้เจอน้องสาว  ต่อมาน้องสาวตัดสินใจย้ายไปอยู่ด้วย  จนมีความสัมพันธ์ฉันท์ชู้สาว  เธอเคยถูกพ่อเลี้ยงข่มขืน  เพราะฉะนั้นการใช้ชีวิตเช่นนี้  ไม่ใช่เรื่องอันเลวร้ายในชีวิต  แต่คนในชุมชนไม่เห็นด้วย  และนำไปสู่โศกนาฎกรรมของพี่น้องคู่นี้ในที่สุด  หนังช้ามาก  น่าจะได้รับรางวัลเล็ก ๆ ไป  หรือไม่ก็ตกไปเลย

ส่วนหนังที่ถูกสื่อโห่มากที่สุดในปีนี้  มี 2 เรื่อง ได้แก่



The Headless Woman โดยผู้กำกับหญิงคนเดียวในหนังประกวดทั้งหมด  คือ Lucrecia Martel  หนังพูดถึงหญิงวัยกลางคนคนหนึ่ง  อาชีพหมอฟัน  เป็นที่รักของทุกคนในครอบครัว  วันหนึ่งเธอไปขับรถชนอะไรอย่างหนึ่งเข้า  แล้วเธอหนี  โดยไม่เปิดไปดูด้วยซ้ำว่าเป็นอะไร  แต่ความผิดนั้นมันฝังลึก  จนเธอเริ่มบอกความจริงกับคนรอบข้าง  ทุกคนพาเธอไปพิสูจน์  พาไปดูความจริง  แล้วหนังก็มีอยู่แค่นี้  คือ ถ้ามันจบแค่นี้  ก็ยังโอเค  แต่หนังยังพูดอะไรต่ออีกไม่รู้  ไม่รู้หนังต้องการจะบอกอะไร  รวมทั้งวิธีการนำเสนอที่ช้ามากด้วย  ทำให้กลายเป็นหนังที่สมควรถูกโห่อย่างถึงที่สุด 



Frontier of Dawn โดยผู้กำกับ Philippe Garrel ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สมควรถูกโห่  หนังเสนอเป็นภาพขาวดำ วิธีการตัดต่อ  มุมกล้องต่าง ๆ ก็พยายามเลียนแบบหนังเงียบยุคขาวดำ  ไม่ว่าจะเป็นการไล่ภาพเป็นวงกลม  หรือการไล่ภาพขาวดำ  เสนอตัวหนังสือเล่าเรื่องแทรกระหว่างตอน  นักแสดงหลักก็หน้าตาดูคลาสิคดีทีเดียว  เหมือนกับจะบอกความรักคลาสิคของหนุ่มช่างภาพกับดาราสาว  แต่เผอิญดาราสาวแต่งงานไปแล้ว  เขาตัดสินใจหนีจากเธอ  จนเธอเป็นบ้าและฆ่าตัวตายในที่สุด  ต่อมา  เขามีแฟนใหม่  แล้วผีแฟนเก่ากลับมาหลอก  เขาก็เลยฆ่าตัวตาย  ตอนฉายหนังเรื่องนี้  มันซ้ำ  จนพวกสื่อด้วยกันรำคาญ  ปรบมือให้หนังจบก่อนกำหนดตั้งหลายตอน 

ก็มาลุ้นกันต่อไปนะคะ

22 May 2008

โห่ร้องด้วยความยินดีจากรอบสื่อเริ่มปรากฎแล้ว จนผู้เขียนเอง  ยังรู้สึกอดขนลุกไม่ได้  กับหนังเกือบปลายเทศกาลของอะตอม อีโกยันเรื่อง Adoration หนังที่ถูกประเมินไว้ค่อนข้างต่ำจากเทศกาล  ด้วยการฉายรอบสื่อพร้อมกับรอบทั่วไป   แถมไม่ใช่เวลาไฮไลท์อย่าง 8.30 หรือ 19.00 ทำให้มีสื่อเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่ได้ดูหนังเรื่องนี้

Adoration เป็นเรื่องของไซม่อน เด็กชายวัยรุ่นที่อยู่กับลุง หลังจากที่พ่อแม่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ  ถ้าไซม่อนเป็นเหมือนเด็กชายวัยรุ่นทั่วไป  คงไม่มีปัญหา  แต่เผอิญพ่อเขาเป็นคนเลบานอนที่มาตั้งรกรากที่แคนาดา เรื่องราวเหล่านี้จะไม่ได้รับการเปิดเผย  เมื่อวันหนึ่งเขาอดทนกับการบ้านที่ครูสั่งให้เขียน เรื่องราวเรื่องหนึ่ง  แล้วพาดพิงกับการก่อวินาศกรรม  เขาเล่าเรื่องความจริงเรื่องนั้น  โดยบอกครูว่า เขาเพียงต้องการสมมติว่าถ้าเขาเป็นลูกชายของชายหญิงคู่นั้นจะเป็นอย่างไร  ครูของเขาบอกให้เขาเขียนเรื่องต่อ  โดยต้องการจะนำมาแสดงเป็นละครเวที

และเหมือนเด็กชายทั่วไป  ไซม่อนเล่าเรื่องนี้ผ่านโลกไซเบอร์สเปซ  ผลปรากฎว่าเกิดกระแสการต่อต้านอย่างรุนแรงจากเพื่อนวัยรุ่น ก่อนที่จะลามไปถึงรุ่นพ่อแม่  ขณะเดียวกัน ไซม่อนก็บันทึกภาพที่คุณตาเล่าเรื่องราวของแม่ให้เขาฟัง  ซึ่งกล่าวหาว่า พ่อของเขาเป็นฆาตกร

อะตอมยังคงละเมียดละไมในการเสนอเรื่องราวความสัมพันธ์ของบุคคลอย่างอ่อนไหว  ทั้งมุมมองของลูกที่มีต่อพ่อแม่

ลุงที่ต้องการรับผิดชอบจากการปฎิเสธโทรศัพท์น้องสาวจนเสียชีวิตในที่สุด  รวมทั้งคุณครูซึ่งต่อมา เปิดเผยตัวว่าเป็นภรรยาเก่าของแซม พ่อของไซม่อน  ขณะเดียวกันหนังก็ชาญฉลาดในการนำโลกอินเตอร์เน็ตมาถ่ายทอด (รวมทั้งกล้องวีดีโอต่าง ๆ ตามสไตล์อะตอม)  มากล่าวถึงประเด็นร้อนของโลกอย่างการก่อวินาศกรรมนี้  Adoration เรียกความรู้สึกอ่อนไหว การสูญเสีย ค่าแห่งความรักอย่างที่เขาเคยทำใน Sweet Hereafter หนังที่ทำให้เขาได้รับรางวัลกรังค์ปรีซ์เมื่อสิบปีก่อน  Adoration เป็นการทบทวนงานเก่าในเชิงดราม่าของอะตอม  เพียงแต่นำเสนอผ่านโลกใหม่อย่างไซเบอร์สเปซ   

แต่สำหรับความลึกของการแสดงและความรู้สึกนั้น  ผู้เขียนคิดว่า Sweet Hereafter มีมากกว่า อาจจะเป็นเพราะหนังเรื่องนั้นบทนำอยู่ที่ตาแก่คนหนึ่ง  ซึ่งเผอิญนำแสดงโดยนักแสดงฝีมืออาชีพ  ขณะที่ Adoration บทนำอยู่ที่เด็ก  จึงทำให้การแสดง   ซึ่งแม้จะดี   แต่ก็ไม่ถึงที่สุด

มีคนคาดกันว่า หนังเรื่องนี้น่าจะได้รางวัลปาล์มดอร์มากที่สุดในขณะนี้

21 May 2008

Che ไม่เป็นที่ประทับใจเท่าที่ควร
หนังทวิภาค Che โดย Steven Soderbergh ซึ่งเป็นหนังที่คนคาดหวังและรอคอยมากที่สุด  กลายเป็นหนังดีธรรมดา ๆ เรื่องหนึ่ง  ที่ไร้เสียงยินดีใด ๆ  มีแต่เสียงปรบมือธรรมดา เท่า ๆ กับที่ไม่มีเสียงโห่

หนังแบ่งเป็น 2 ภาค  แต่ละภาคยาวกว่า 2 ชั่วโมง 15 นาที  จนต้องเบรคพัก 15 นาทีระหว่างสองเรื่อง   หลังจากจบภาคแรกแล้วมีเสียงคนเชียร์ให้ได้ยินอย่างแผ่วเบา  Soderbergh ยกเรื่องราวชีวิตของเช กูวาร่า ใน 2 ช่วงของการเป็นนักปฎิวัติ  ช่วงแรกในปี 1956 เมื่อฟิเดล คาสโตร นำผู้ร่วมทีมกว่า 80 คนเริ่มเดินทางปฎิวิติในคิวบา  จนสู่ชัยชนะมากที่สุด  และช่วงที่สองกับชีวิตเกือบ 400 วันของเชในการช่วยเหลือพรรคพวกหน่วยใต้ดินปฎิวัติที่โบลิเวีย  จนนำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด   

Soderbergh เลือกเสนอภาคแรกของหนังออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ  เส้นทางการปฎิวัติในคิวบาจะถ่ายทอดออกมาเป็นภาพสี  ซึ่งเราจะได้เห็นเช กูวาร่า ในฐานะคนธรรมดาที่เป็นทั้งผู้นำคณะปฎิวัติ  คุณหมอ  ผู้นำที่ฟังความคิดเห็นของลูกน้อง  อีกส่วนหนึ่งจะเป็นการเดินทางไปสหรัฐของเช  ให้สื่อสัมภาษณ์และร่วมกล่าวปาฐกถา  โต้ผู้นำชาติต่าง ๆ ในเวทีสหประชาชาติ  ซึ่งจะถ่ายทอดเป็นภาพขาวดำ  ในช่วงนี้เราจะเห็นความคิดของเขาในฐานะผู้นำปฎิวัติที่กล้าหาญ  เจ้าความคิด และปากคม

ส่วนภาค 2 เป็นภาพเช ที่หนีจากคิวบา  เพื่อไปช่วยเพื่อนรบที่โบลิเวีย  ตั้งแต่ปี 1967  ในช่วงนี้  หนังจะดำเนินเรื่องนับเวลาเป็นวัน ๆ ตั้งแต่วันแรกที่เขาใช้ชีวิตในโบลิเวีย  จนถึงวันที่เสียชีวิต

Che เป็นหนังที่ทำให้ดิฉันต้องใช้ความคิดตลอด   แต่ไม่ได้เกี่ยวกับเนื้อเรื่อง   คือ จะบอกว่าชอบก็ไม่ได้  ครั้นจะบอกว่าไม่ชอบหรือไม่รู้เรื่องก็ไม่ได้  เพื่อนบางคนบอกว่ารายละเอียดมากเกินไป  แต่ดิฉันพอจะเข้าใจเนื้อเรื่องอยู่มาก  ดิฉันคิดว่า การที่ Soderbergh แบ่งหนังออกเป็น 2 ส่วน  โดยยึดเหตุการณ์ปฎิวัติ 2 ครั้งก็เพื่อถ่ายทอดภาพของเชในฐานะทั้งผู้ชนะและผู้แพ้  เขาประสบความสำเร็จในคิวบา  แต่เขากลับทำไม่ได้ในโบลิเวีย  ถ้ามองในมุมนี้แล้ว  บวกกับภาพหลาย ๆ ตอนที่เสนอเชในฐานะปุถุชนธรรมดา  ที่มีโรคประจำตัว  ที่เป็นทั้งผู้นำที่รุ่นน้องพูดคุยได้  ดิฉันคิดว่า Soderbergh ต้องการให้เห็นภาพเชในฐานะคนธรรมดา  แต่มันไม่โดดเด่น ไม่ลึก

ในฐานะที่เป็นคนชื่นชมเช กูวาร่า หลังจากที่ได้ไปคิวบาจริง ๆ  ได้เห็นว่า “เชคือตัวจริง”  ดิฉันขอบอกว่า ไม่ได้เกิดความรู้สึกตรงนั้นหลังจากดูเรื่องนั้น  เช สำหรับดิฉันคือนักปฎิวัติ  นักเขียนที่ดี  จนเคยบอกว่า ถ้าเขาไม่ได้เป็นผู้นำทางการเมือง  เขาอาจจะได้รางวัลโนเบล  แต่ส่วนนี้ไม่เห็นเลย  เชที่เห็นในหนังเป็นเพียงผู้นำการปฎิวัติต่าง ๆ  เท่านั้น  ไม่เห็นความคิดของเขาต่อโลกอย่างชัดเจน  บอกตรง ๆ ภาพถ่ายต่าง ๆ ที่ดิฉันได้เห็นจากพิพิธภัณฑ์และอนุสาวรีย์ต่าง ๆ เมื่อครั้งไปคิวบา  ทำให้ดิฉันมีความรู้สึกมากกว่า 

แต่ครั้นจะบอกว่า Che น่าเบื่อก็บอกไม่ได้  ตลอดเวลา 4 ชั่วโมงครึ่งนั้น  ดิฉันขอยอมรับว่าไม่หลับ  และหนังชวนติดตามตลอด   Soderbergh เขาก็แม่นในเรื่องนี้พอสมควร

ดิฉันขอสรุปสั้น ๆ ว่า Che โดย Soderbergh เป็นเพียงส่วนที่เสริมความรู้และรายละเอียดเกี่ยวกับเชมากกขึ้น  แต่ในส่วนอารมณ์และความเทิดทูนที่มีต่อเขา  กลับไม่ได้ทวีคูณขึ้น  การแสดงนำของ Benicio del Toro ก็เพียงแต่สอบผ่าน  ไม่ได้ทำให้ภาพเชในใจฉันแรงขึ้นตาม

หนังอาจจะหาแฟนยากหน่อย  ถ้าคน ๆ นั้นไม่ได้เป็นแฟนเชหรือนักกิจกรรมทางการเมืองจริง ๆ

 

20 May 2008

ยังคงไว้ลายอีกเช่นเคย สำหรับผู้เฒ่า คลินท์ อีสต์วู้ด เมื่อหนังประกวดของเขาเรื่อง L'ECHANGE (CHANGELING) กลายเป็นหนังประกวดเรื่องแรกที่นอกจากคนจะปรบมือให้แล้ว  ยังโห่ร้องด้วยความยินดี  เมื่อเครดิตชื่อของเขาเริ่มปรากฎ

 


L'Echange หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า Changeling เป็นหนังที่เกิดขึ้นในช่วงปี 1928  เมื่อแม่วัยสาวคริสติน คอลลินส์ (นำแสดงโดย Angelina Joli) เกิดสูญเสียลูกชายไปจากการลักพาตัว   เธอพยายามตามหาลูกชายอยู่ทุกทาง  จนห้าเดือนถัดมา  เธอได้ลูกชาย วอลเตอร์ คอลลินส์ คืน   แต่ครั้งแรกที่เธอเห็นลูกชาย  เธอพบว่าเขาไม่ใช่ลูกชายของเธอ  เธอพยายามเรียกร้องให้ตำรวจลอสแองเจลิสตามหาลูกชายเธออีกครั้ง  แต่หัวหน้าหน่วยตำรวจในลอสแองเจลิส (LAPD)   กลับจับเธอเข้าโรงพยาบาล  ชีวิตของเธอคงจะจบลงในโรงพยาบาลบ้าเหมือนผู้บริสุทธิ์ที่มีปัญหากับตำรวจหลายคนในโรงพยาบางนั้น  ถ้าเพียงแต่ว่าผู้นำศาสนา (นำแสดงโดย John Malkovich)  จะไม่ออกมาเป็นผู้หาความยุติธรรมให้กับเธอ  เท่า ๆ กับที่นายตำรวจผู้หนึ่ง  ตัดสินใจสืบคดี serial killer ผู้หนึ่ง  ที่เขาได้ยินจากปากเด็กชายชาวแคนาดาที่ถูกเขาจับกุมในข้อหาีลอบเข้าเมือง  เด็กชายคนนั้นบอกว่า ญาติของเขาได้ฆ่าเด็กเกือบ 20 คน  วอลเตอร์ คอลลินส์ เป็นหนึ่งในนั้น  

คลินต์ อีสต์วู้ด ยังคงมีชั้นเชิงในการนำฟิลม์นัวร์ผสมผสานกับดราม่า  กว่าครึ่งเรื่องของหนังได้รักษาองค์ประกอบของหนังฟิลม์นัวร์รูปแบบเก่าอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นภาพโทนขาวดำ  ฝนตก  เพียงแต่ว่าเป็นฟิลม์นัวร์ในเชิงดราม่า  อย่างที่เราเห็นใน Seven   ภาพหลาย ๆ ตอนแสดงโศกนาฎกรรมของตัวละคร  แม้แต่เด็กชายชาวแคนาดาที่ต้องร่วมเป็นฆาตกรกับญาติผู้เป็น serial killer รวมทั้งคริสติน่า คอลลินส์ ในฐานะแม่ที่ต้องออกมายืนยัน และเรียกร้องความยุติธรรมว่า เด็กคนนั้นไม่ใช่ลูกชายของเธอ  หลาย ๆ ตอน   เห็นได้ชัดว่า ผู้กำกับพยายามสร้างอารมณ์ดราม่าให้กับเธอ  อาทเช่นิฉากสอบสวน  เขาไม่ได้เน้นในรายละเีอียดเลย ใช้กล้องไล่ผ่าน แต่เน้นการใช้ดนตรีประกอบ  ซึ่งแต่งโดยเสือเฒ่าเองค่ะ

คาดว่าน่าจะเป็นหนังที่มาแรงอีกเรื่องหนึ่ง  เสียงโห่เมื่อชื่อของเขาปรากฎขึ้นในเครดิต  นับเป็นเสียงตอบรับที่สนับสนุนความนิยมอยู่ไม่น้อย

19 May 2551
ผ่านไปครึ่งเทศกาลแล้ว  ฉายหนังประกวดไปแล้วทั้งสิ้น 10 เรื่อง จากทั้งหมด 23 เรื่อง   ผลปรากฎว่าหนังประกวดโดยทั่วไปของปีนี้  ยังไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น  โดยรวมแล้ว  เสียงตอบรับรอบสื่อจะมีการปรบมือกันพอประมาณ  เท่า ๆ กับที่ประเพณีถูกโห่ยังไม่ได้รื้อฟื้น  เพราะเท่าที่ผ่านมา  ไม่ได้มีผลงานของผู้กำกับดัง ๆ อันจะเป็นที่หมั่นไส้  อย่างที่เฮียเควนติน ตารันติโน่ เขาเคยเจอ 

เท่าที่ผ่านมา  หนังที่ส่วนใหญ่คนพูดถึงมากที่สุด  ก็คือ Waltz With Bashir  แอนิเมชั่นซึ่งดิฉันก็ยังคิดว่า มีปัญหาในเรื่องเล่าเรื่องและสื่อความ  ถ้าไม่ใช่เป็นเพราะประเด็นการเมืองของเรื่องกำลังร้อน 

 

 

ส่วนเรื่องที่พูดถึงกันมากต่อมา ก็คือ หนังฝรั่งเศส A Christmas Tale โดย Arnaud Desplechin (Kings and Queen)   หนังเล่าเรื่องราวชีวิตในครอบครัวใหญ่ครอบครัวหนึ่งของอาเบล และ Junon  ทั้งคู่มีลูก 4 คน  ตายตั้งแต่เด็กคนหนึ่ง  ลูกสามคนที่เหลือแต่งงานและมีลูกแล้ว  ยกเว้นลูกชายที่ไม่เอาถ่านคนที่สาม ชื่อ อองรี  อองรีถูกพี่สาวเอลิซาเบ็ธเข้าช่วยเหลือเรื่องการเงิน  โดยมีข้อแม้ว่าเขาจะต้องไม่มายุ่งกับครอบครัวอีก  ส่วนเอลิซาเบธมีลูกชายที่สุขภาพไม่แข็งแรงชื่อพอล    และน้องชายคนเล็กก็แต่งงานแล้วมีลูกชายฝาแฝด 2 คน   ทั้งหมดกลับมาบ้านเพื่อฉลองวันคริสต์มาสอีกครั้ง  รวมทั้งพอล (ลูกเอลิซาเบ็ธ)  ที่ไปเชิญน้าอองรีมาร่วมงานเอง  เพราะคุณยาย (Junon) ป่วย และต้องการถ่ายอวัยวะจากเลือดเนื้อเชื้อไข  ซึ่งปรากฎว่ามีเฉพาะอองรีและพอลเท่านั้นที่สามารถถ่ายให้ได้ 

เนื้อเรื่องจริง ๆ แล้วเป็นเพียง family drama เรื่องหนึ่ง  แต่ผู้กำกับ  วางแพลนตัวหนังได้ดีมาก  แทนที่เขาจะใช้วิธีการเล่าเรื่องแบบดราม่าหรือปะทะกันทางอารมณ์  ทะเลาะกันไปทะเลาะกันมา  เขากลับใช้ลูกเล่นต่าง ๆ เพื่อเล่าตำนานของครอบครัวนี้  ไม่ว่าจะเป็นการใช้ puppet show, จดหมาย, แนะนำตัวลูกเป็นตอน ๆ และอื่น ๆ อีกมากมาย   โดยเฉพาะบทซึ่งดิฉันถือว่าสุดยอด  (ผู้กำกับร่วมเขียนบทกับ Emmanuel Bourdieu)  ไม่รู้ทำได้อย่างไร  ตัวละครแต่ละตัวมีความสำคัญมาก  ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่  ลูกทั้ง 4 คน  รวมทั้งโจเซฟ  ซึ่งตายตั้งแต่เด็ก  แต่กลับมีคนพูดถึงตลอดเรื่อง  ลูกสะใภ้  ลูกเขย  แฟนอองรี  แม้แต่ดารารุ่นเด็ก  ไม่มีใครน้อยกว่าใคร  หรือลูกพี่ลูกน้องชื่อ Simon แรก ๆ ดูเหมือนตัวประกอบ   ก็มีความหมายในภายหลัง    ผนวกกับการแสดง  ซึ่งขนดาราชื่อดังของฝรั่งเศสมาทั้งกระบิ  บอกได้ว่า เยี่ยม  คนเขียนบททุกคน  ควรดูหนังเรื่องนี้  หนังน่าจะได้รางวัลกรังค์ปรีซ์เป็นอย่างต่ำ  หรือถ้าเลวที่สุดก็บทยอดเยี่ยม  และที่น่าจะนำมาคือ ดาราชายยอดเยี่ยม  ดิฉันเชียร์ Mathieu Amalric ผู้รับบทอองรี  สุดยอด  เหนือชั้นกว่าที่เขาเคยเล่น The Diving Bell and The Butterfly


 

24 City สารคดีของผู้กำกับจีนเจี่ยจางเก๋อ  ซึ่งถูกเลือกปฎิบัติให้ฉายรอบสื่อในโรงเล็กแค่ 250 ที่นั่งเพียงรอบเดียว (ปรกติถ้าห้องใหญ่สุดจุ 3,000 คน โรงขนาดรองลงมาจุ 1,000 กว่าคน)  แล้วก็ฉายรอบกาล่าซัปเปอร์ (ไม่ใช่ดินเนอร์ค่ะ) คือ ฉายตั้งแต่ 4 โมงเย็น  นอกนั้นเป็นโรงเหลือ ๆ อีกรอบสองรอบ  เจี่ยจางเก๋อเล่าเรื่องราวโรงงานในเมืองเฉิงตูที่กำลังจะปิดตัว  โดยเขาไล่สัมภาษณ์ตัวละคร 3 รุ่น จากทั้งหมด 8 คน   เพื่อพูดถึงอดีตและสิ่งที่พวกเขากำลังจะสูญเสีย  หนังมีทั้งส่วนดีและไม่ดี  เจี่ยจางเก๋อใช้วิธีให้คนมานั่งสัมภาษณ์  แล้วพูด ๆ พูด  วิธีเดียวกับที่ผู้กำกับ Ari Folman ทำใน Waltz With Bashir    แล้วมันน่าเบื่อสุดฤทธิ์  คือ โดยส่วนตัวไอ้วิธี talking head มันใช้ได้  แต่ไม่ควรจะเยอะมากขนาดนั้น  แย่กว่านั้นก็คือ สร้างตัวละคร 2 ตัว ที่มาเป็นผู้พูดอย่าง Joan Chen กับแฟนตัวเองนั้น เป็นส่วนที่แย่ที่สุดของหนังเรื่องนี้  เพราะดูไม่จริง  และที่สำคัญ เสแสร้ง (pretenscious) สุดฤทธิ์

แต่ดิฉันคิดว่าเจี่ยจางเก๋อยังเหนือชั้นกว่า Ari Folman เพราะหลาย ๆ ตอนที่ไม่ใช่การสัมภาษณ์  เจี่ยจางเก๋อสามารถเล่าเรื่องด้วยภาพ  ทั้งลองช็อต  หรือการปล่อยให้เป็นภาพนิ่ง  เหมือนภาพถ่ายที่จะเก็บไว้ในความทรงจำ  ในอัลบั้มภาพ  มันเต็มไปด้วยความรู้สึก  ความอาดูร  ความรัก  และความทรงจำ  และที่เหนือกว่าชั้น  นั่นก็คือ เจี่ยจางเก๋อใช้ศิลปะแขนงอื่นมาเป็นองค์ประกอบเพื่อเล่าความหมายและถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกเหล่านั้น  ไม่ว่าจะเป็นบทกวีของทั้งจีนและฝรั่ง บทเพลงทั้งป็อบไม่ป็อบ หรือแม้แต่ภาพตัดตอนของหนังหรือทีวี  ดิฉันคิดว่า 24 City มีทั้งข้อดีและข้อดี  หลายคนบอกว่า เขาน่าจะได้รับรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมไป


 

Linha De Passe ของผู้กำกับบราซิล Walter Salles ร่วมกับผู้กำกับหญิง Daniela Thomas ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตคนยากจนครอบครัวหนึ่ง  มีแม่และลูกชาย 4 คน  แม่เลิกทางกับสามี  ทำงานอย่างหนักเพื่อเลี้ยงครอบครัว  รวมทั้งลูกที่กำลังจะเกิดในอีกไม่นานนี้  ลูกชายคนหนึ่งรักฟุตบอลและอยู่ในทีมฟุตบอล    คนหนึ่งหันเหไปทางศาสนา  คนหนึ่งมีลูกเล็ก ๆ ทำงานหลายอย่าง  รวมทั้งปล้น  เพื่อต่อสู้กับความยากลำบากในชีวิต  และคนเล็กยังเด็กอยู่  ทั้ง 4 คนและแม่  ต่างเลือกทางชีวิตของตนเอง  และต่อสู้เพื่อให้ดำเนินไปตามเส้นทางของตนเอง  ผู้กำกับทั้งสองทำงานได้ดีในการถ่ายทอดความยากลำบากของคนทั้งหมดได้อย่างสวยงาม  รวมทั้งถ่ายทอดชีวิตในเซาเปาโล  สังคมคนเล่นบอล  รวมทั้งวิถีชีวิตของคนที่นั่นได้อย่างดี  ตั้งแต่ฉากแรกแล้ว  หนังดูจะวางมุมกล้องให้ใช้ close shot กับ middle shots ตลอด  รวมทั้งการแช่ภาพต่าง ๆ  เคลื่อนภาพอย่างช้า  เพื่อให้ตัวละครถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกตรงนี้  ดิฉันคิดว่า Salles พัฒนาฝีมือดีขึ้นจาก Motorcycle Diaries มาก  แต่หนังมีปัญหาในการถ่ายทอดเรื่องราวในช่วงแรก ๆ ของหนังอยู่บ้าง

 

ส่วนหนังฟิลิปปินส์เรื่อง Services ของ Brilliante Mendoza นั้น  ดิฉันค่อนข้างจะชอบนะ  แต่ผลปรากฏว่าฝรั่งไม่ชอบเลย  โหวตใน Screen บางคน  ถึงกับไม่ลงคะแนนให้ด้วยซ้ำไป  หนังเล่าเรื่องราวโรงหนังโป๊แห่งหนึ่งในเมืองที่ไม่แน่ใจว่าเป็นมะนิลาหรือเปล่า เพราะหนังเรื่องนี้ถ่ายอยู่ในตึก ๆ เดียว  แทบจะไม่ออกมาข้างนอกเลย ก็เลยไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน  โรงหนังโป๊ดังกล่าว  ส่วนใหญ่จะมีแต่เกย์เข้าไปดู  ดูแล้วก็มักจะมีบริการทางเพศแอบแฝงกันในนั้นเลย  โดยผู้ดำเนินกิจการเป็นครอบครัวหนึ่ง  (จึงไม่น่าแปลกใจที่โรงหนังนี้ใช้ชื่อว่า Family)  มีแม่  ซึ่งอายุร่วมหกสิบปีแล้ว  พร้อมแม่วัยกลางคน  และลูกสาวลูกชาย  รวมทั้งคนที่มาเกี่ยวข้อง 

Mendoza พัฒนาฝีมือจาก Foster Child เยอะมากอย่างไม่น่าเชื่อ  เขาควบคุมให้หนังเกิดขึ้นในตึก ๆ เดียว  มุมกล้องที่ใช้ก็มีทั้งดีและไม่ดี  out of focus บ้าง  เบลอบ้าง  โดยฉากนอกตึกจะเห็นเฉพาะตอนกล้องหรือคนในบ้านมองออกไปข้างนอก  ทั้งเรื่องมีฉากนอกตึกนี้แค่ 2 ฉากในตอนจบ  ซึ่งก็วนเวียนอยู่แถวโรงหนังนั่นแหล่ะ  หนังถ่ายทุกอย่างในเวลา 24 ชั่วโมง  ทุกคนต่างมีชีวิต  มีมุมมองในเรื่องเซกส์ต่าง ๆ กันไป  บางคนก็ทนอยู่  อย่างคุณยายที่อายุมากที่สุด  ก็ต้องอดทนกับชีวิตในนั้น  ขณะที่แม่ก็เป็นชู้กับเด็กรุ่นลูก 

ดิฉันคิดว่า ส่วนหนึ่งฝรั่งไม่เข้าใจความหมายของหนังเรื่องนี้  จริง ๆ แล้ว Mendoza ต้องการวิพากษ์สังคมเซ็กส์โดยรวมของฟิลิปปินส์ที่มีกันอย่างดาษดื่นจนถึงทุกวันนี้   มันมีให้เห็นกันอยู่ทั่วทุกหัวมุมถนนนั้น  จนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตครอบครัวเลยก็ว่าได้  และคนในครอบครัวหรือสังคมฟิลิปปินส์นั้นแหล่ะที่รักษามันไว้อยู่ 


 

เรื่องต่อไปคือ Lorna’s Silence โดย Jean-Pierre Dardenne และ Luc Dardenne เจ้าของรางวัล The Child นั้น  เล่าเรื่องราวของ Lorna ที่แต่งงานแล้วกับสามีติดยา  เธอพยายามหาทางหย่าขาดจากเขาทุกวิถีทาง  ขอร้องให้เขาทำร้ายเธอ  แต่เขาก็ปฎิเสธ  เพราะทำไม่ได้  แต่ในที่สุด Lorna ก็สามารถทำให้ตัวเองหย่าขาดได้  ในวันที่เธอได้รับจดหมายนั้น  สามีเธอพยายามขัดขวาง  เขาหันกลับไปเสพยาจนเกินขนาด  เสียชีวิตในที่สุด   ต่อมา Lorna พบว่าตัวเองตั้งท้อง  เธอตัดสินใจไม่ทำแท้ง  แต่ข้อผูกมัดกับชู้รัก  และเจ้านายที่ต้องการให้เธอรับแต่งงานกับหนุ่มรัสเซีย  ดูเหมือนจะเป็นอุปสรรคสำคัญ  เธอหาทางหลบหนีเขา  เพื่อรักษาลูกไว้

คือ หนังของสองผู้กำกับคนนี้  จะดำเนินเรื่องไปเรื่อย ๆ  ราบเรียบ  ไม่โตกตาก  เหมือนกับเป็นชีวิตประจำวัน  ซึ่งมันไม่ทำให้ “ติด” ในความรู้สึกของดิฉันตั้งแต่ The Child แล้ว  ตัวดิฉันก็เฉย ๆ  คือ วิธีการของเขาราบเรียบเกินไป  เขาเล่าเรื่องธรรมดา   ถ้าเขาหันไปเล่นสไตล์  ก็ยังว่าไปอย่าง   เพราะฉะนั้น ไอ้ความนิ่งเงียบและเฉย ๆ  มันไม่เคยทำให้ดิฉันกระตุก  ไม่ว่าจะเป็นแนวทางใด  แม้แต่ในงานฉบับล่าสุดนี้  ทั้งเรื่องดิฉันชอบตอนที่สามีของ Lorna ปฎิเสธว่าเขาทำร้ายเธอไม่ได้  เขาไม่เคยแสดงความรักออกมาอย่างจริงจัง  แต่เขารักเธอมาก  บวกกับความรู้สึกผิดของ Lorna จนตัดสินใจไม่ทำแท้งลูก  เท่านี้แหล่ะที่ดิฉันคิดว่ามันลึก

 

 

ส่วนหนังอิตาลี Gomorrah โดย Matteo Garrone เป็นหนังประกวดเรื่องเดียวที่ดิฉันวอล์คเอาท์ก่อนหนังจะจบ 20 นาที  บอกตรง ๆ  งานประกวดปีนี้  ส่วนใหญ่ดิฉันต้องดูนาฬิกาตลอดเวลา  แต่ก็ทนดูไปจนจบได้  ไม่มีเรื่องไหนที่ทำให้ดิฉันต้องเดินออกมาก่อน 

Gomorrah เล่าเรื่องของตัวละครหลายตัว  ที่อยู่ในเมืองหนึ่ง  แต่ละคนมีวิถีชีวิตของตัวเอง  แต่ทุกคนดันไปเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมในเรื่องจนได้  ไม่ก็วิถีใดวิถีหนึ่ง  ทีนี้การเล่าเรื่องที่บอกแนวทางชีวิตของตน  แบบพยายามไม่ให้เกี่ยวข้องกันนั้น  มันเดินเหมือนเป็นเส้นขนาน  แม้ชีวิตทุกคนจะเกี่ยวข้องกันก็ตาม  พอมาเล่าเรื่องแบบแยก ๆ แบบนี้  มันทำให้เราต้องมีสมาธิมาก ๆ  พอหนังมาขมวดตอนจบ  มันก็เลยใช้เวลาเยอะ  แล้วเราก็หลุดจากเรื่องไปแล้ว 

ดิฉันไม่รู้ว่า  พวกนักวิจารณ์ฝรั่งเขามองเรื่องนี้กันอย่างไร  แต่ดิฉันไม่โหวตให้เลยค่ะ

 

Day 2

ขอโทษค่ะที่ต้องสบถขึ้นเว็บไว้อย่างนั้น  เพราะหนังประกวดทั้ง 2 เรื่องในวันนี้  มันไม่ได้ทำให้ตัวเองรู้สึกตื่นเต้นเลย

เปิดวันด้วยหนังอาร์เจนติน่าเรื่อง เรื่องแรกก็คือ Lion's Den (Argentina, South Korea, Brazil) โดยผู้กำกับอาร์เจนติน่า Pablo TRAPERO  ซึ่งดิฉันหวังไว้ค่อนข้างเยอะ  ด้วยความที่เป็นคนชอบหนังละตินอเมริกามาก ตอนแรก ๆ หนังก็เปิดเรื่องได้อย่างน่าสนใจ  ด้วยการใช้มุมกล้องแบบ close-shot กับ middle-shot ตลอด   เผยให้เห็นความรู้สึกอารมณ์ของตัวละครตลอด  จนทำให้เราเกิดความสงสัยกับเหตุการณ์ฆาตกรรมที่เกิดขึ้นในเรื่อง ว่านางเอกจูเลียของเราไม่ได้ทำจริง  แต่ทันใดนั้น หนังก็เปลี่ยนทางไปเน้นความรักความผูกพันที่เธอมีต่อลูก  นอกจากหนังเปลี่ยนธีมเรื่องอย่างฉุกเฉิน  การเล่าเรื่องแบบเรื่อย ๆ มาเรียง ๆ มันชวนให้น่าเบื่อมาก  หนังมีเพียงไม่กี่ตอนเท่านั้น  ที่มันกระทบไปถึงก้นบึ้งของจิตใจ  การปะทะทางอามรณ์ต่าง ๆ  โอ้! บอกไม่ถูก  และที่สำคัญไอ้ความที่มันเป็นหนังรวมหลายชาติ  มันทำให้ขาดเสน่ห์ละตินอเมริกาไป  เสียดาย ๆ
ผลตอบรับรอบสื่อ : ปรบมือเริ่มหนาขึ้นแบบเรื่อย ๆ มาเรียง ๆ  แต่อย่างหนึ่งก็เพราะว่ามันฉายในโรงที่ใหญ่ที่สุดน่ะคุณ  มันก็เลยดูดี

Three Monkeys หนังของผู้กำกับตุรกีชื่อดัง Nuri Bilge Ceylan ซึ่งเคยสร้างความตื่นตะลึง (เล็ก ๆ) กับหนังอันแสนทรมาณในการดูอย่าง Climates หนนี้เขากลับมาใหม่ด้วยเนื้อเรื่องที่ดูเข้าใจง่ายกว่าเดิมเยอะ  หนังพูดถึงความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว พ่อ แม่ ลูก ที่อยู่ร่วมกันด้วยการไม่พูดถึง ไม่เผชิญหน้าความจริงบางอย่างซึ่งกัน  หนังถ่ายทอดให้เห็นภาวะจิตใจและความอดกลั้น อดทนที่จะไม่พูดความลับของผู้อื่น  จนดูเหมือนปิดบังความจริงอันนั้นไว้  คือ บอกไม่ถูก  ภาพบางช็อตก็ดูดี  บางครั้งก็ยังแสดงให้เห็นอิทธิพลจาก Climates อยู่  แต่ภาพบางภาพก็ไม่ได้สวยหรูเช่นนั้น  คือ มันดูห่าง ๆ หาย ๆ ตามสไตล์พี่ Nuri เขา   โอ้ พระเจ้าช่วย ข้อยดูนาฬิกาเกือบสิบรอบ
ผลตอบรับรอบสื่ :ปรบมือในระดับใกล้เคียงกับเรื่อง Lion's Den

 

Day 1

WALTZ WITH BASHIR เป็นแอนิเมชั่น  จากการสอบถามและสัมภาษณ์ความทรงจำของอดีตผู้เคยผ่านสงครามเลบานอนในช่วงต้นทศวรรษ 1980   หนังเริ่มจากคนทำหนังชื่อ Ari ได้พบเพื่อนคนหนึ่ง  ซึ่งเล่าฝันร้ายในชีวิตที่ต้องฆ่าสุนัข 26 ตัวตายในช่วงสงคราม  ดูหนังเรื่องนี้ในช่วงแรกมันทำให้ดิฉันนึกถึงหนังรางวัล Special Jury Prize เกี่ยวกับอิหร่านเรื่อง Persepolis  เมื่อปีที่แล้ว  เพียงแต่ภาพแอนิเมชั่นน่าสนใจไปอีกแบบ  แต่เมื่อดำเนินเรื่องผ่านไป  ดูแล้วงง  เพราะผู้กำกับใช้วิธีเหมือนกึ่งสัมภาษณ์ผู้คน  โดยไม่มีการปูที่มาของตัวละคร  แต่ละคนก็ออกมาพูดถึงประสบการณ์ของตัวเองในช่วงสงครามต่าง ๆ  ดิฉันดูแล้วงง  จนเกือบเดินออกตั้งหลายครั้ง  คิดว่าถ้าเนื้อหาไม่ได้เป็นเรื่องการเมืองแล้ว  คงไม่ได้ถูกเลือกมาเข้าประกวดอย่างแน่นอน
ผลตอบรับรอบสื่ : ปรบมือบาง ๆ ไม่มีโห่  ไม่มีเชียร์  (สงสัยกำลังงง)

ฺBlindness หนังเปิดเทศกาลโดย Fernando MEIRELLES

Blindness หนังเปิดเทศกาลจากฝีมือกำกับของ   เป็นหนังร่วมมือกัน 3 ประเทศ ได้แก่ BRAZIL, CANADA, JAPAN โดยสร้างจากบทประพันธ์รางวัลโนเบล Jose Saramago นักเขียนโปรตุเกส  เล่าเรื่องชีวิตของคนกลุ่มหนึ่งที่เกิดตาบอดขึ้นมา  จนถูกนำมากักกันบริเวณในสถานที่แห่งหนึ่ง  มีปฎิกิริยาต่อกันอย่างไรในสภาพจำกัดเหล่านั้น หนังน่าสนใจเพราะเนื้อเรื่องมันดีอยู่แล้ว  ตอนที่ดูหนังมันทำให้นึกถึงหนัง 2 เรื่อง คือ นักโทษประหาร 2482 ซึ่งพี่หง่าว ยุทธนา มุกดาสนิท ต้องการทำเป็นหนังถ่ายทอดชีวิตนักโทษการเมืองที่ถูกกักขังบนเกาะตะรุเตาในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม กับหนังเรื่อง La Jete ของคริส มาแกร์  ต้นฉบับของ Twelve Monkey  

ตัวผู้กำกับ Fernando MEIRELLES เขาถ่ายทำหนังได้น่าสนใจในระดับหนึ่ง  ไม่ว่าจะเป็นการคุมโทนหนังของเรื่องให้เป็นสีเทา  และสีขาวโพลนเพื่อแทนสายตาของคนตาบอด  รวมทั้งการตัดภาพฉับไวคล้ายหนังแอ็คชั่นกับเนื้อเรื่องแบบนี้  แต่ดิฉันคิดว่ามันไม่จำเป็น  และไม่สมควร  มันทำให้หนังดูน่าเบื่อมาก   ครึ่งชั่วโมงแรก ดิฉันก็ดูนาฬิกาแล้ว  และดูไปเรื่อย ๆ เป็นระยะ  จนถึงครึ่งชั่วโมงหลังที่เหล่าสาวกตาบอดในที่กักกันเริ่มวางเพลิง  และหนีเล็ดลอดออกมา   เพื่อมาเจอโลกภายนอกที่อยู่ในสภาพหายนะ  คนตาบอดกันทั้งเมือง  การวางจังหวะหนังไว้เป็นเช่นนั้น  ทำให้ข้อดีของการถ่ายภาพมนุษยนิยมอย่างที่เราเห็นใน City of God และ The Constant Gardener หายไป  และแม้เขาจะเผลอลืมส่วนที่ดีของตนไป  หลาย ๆ ตอนในหนังก็หลุดข้อดีเหล่านี้  ไม่ว่าจะเป็นฉากที่หมามาเลียน้ำตานางเอก  ฉากที่ชายผิวดำปรับปุ่มเสียงดนตรีทางวิทยุให้ดังขึ้น  ฉากที่นางเอก (Julian Moore ซึ่งแกล้งตาบอดเพื่อมาอยู่กับสามี) พากลุ่มนักโทษมาบ้านเดิมของตนเอง  และทุกคนก็รู้สึกว่าความงดงามของการใช้ชีวิตแบบคนธรรมดา อาทิ การอาบน้ำ มันช่างงดงามเสียกระไร

   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.