สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   
ทีมงานเทศกาลหนังปีนี้  เฮฟวี่เวทด้วยเหล่าผู้กำกับ 
  ©thaicinema.org (การนำข่าวไปตีพิมพ์ต่อ) อัญชลี ชัยวรพร / 29 กรกฎาคม 2551
  เมนูรวมข่าวเทศกาลหนังกรุงเทพ 2008
   
 

แม้จะเสียชื่อไปทั่วโลกจากข่าวคดีรับสินบนเอฟบีไอเมื่อปลายปีที่แล้ว  เทศกาลหนังกรุงเทพของไทยก็ยังคงเป็นจุดสนใจไปทั่วโลกอีกครั้ง  เมื่อคณะผู้จัดงานมากกว่าครึ่งล้วนเคยเป็นผู้กำกับไทยมาแล้วด้วยกันทั้งสิ้น 

แรกสุดเห็นจะเป็นฝ่ายคัดเลือกหนังหรือที่เรียกว่า programming  มีนายยงยุทธ ทองกองทุน นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย  เจ้าของตำนานหนังไทยก้องโลกอย่าง สตรีเหล็ก  แก๊งค์ชะนีกับอีแอบ และสี่แพร่ง  รับตำแหน่งไดเร็คเตอร์ของเทศกาล  หรือ artistic director  โดยมีพิมพกา โตวิระ ผู้กำกับหญิงร่วมสมัยคนแรกจากภาพยนตร์ คืนไร้เงา  และ ความจริงที่พูดได้  (The Truth Be Told) รับหน้าที่คัดเลือกหนัง

 

 

นอกจากสองท่านนี้แล้ว  โปสเตอร์ของเทศกาลก็ออกแบบโดยวิศิษฎ์ ศาสนเที่ยง  ผู้เปิดศักราชหนังไทยเรื่องแรกในเมืองคานส์อย่างฟ้าทะลายโจร  ก่อนที่จะตามมากำกับหนังเรื่องอื่น ๆ อย่าง หมานคร และเปนชู้กับผี

นอกจากนี้ สนานจิตต์ บางสะพาน อดีตนักวิจารณ์ที่หันไปกำกับหนังเรื่อง ขัง 8 และ ซุ้มมือปืน ก็รับหน้าที่ดูแลเรื่องเผยแพร่และประชาสัมพันธ์   โดยมีเพื่อนอดีตนักวิจารณ์อีกคน สุทธากร สันติธวัช ที่เคยกำกับหนังเรื่อง ขวัญกับเรียม ก็รับหน้าที่ดูแลผลิตแคตาล็อกเทศกาลสำหรับปีนี้

นอกจากนี้  กรรมการในการประกวดสายหลักในปีนี้ (main competition)  ซึ่งมีอยู่ 3 ท่าน  ก็จะเป็นผู้กำกับทั้งสิ้นจากทั้งไทยและนอกประเทศ

ประเด็นนี้กำลังกลายเป็นจุดสนใจไปทั่วโลก  ว่างานเทศกาลปีนี้จะออกมาเช่นไร  พร้อมกับที่หลาย ๆ คนถามต่อด้วยความเอ็นดูว่า ผู้กำกับจะต้องทำหนังให้เราดูไม่ใช่หรือ 

ยงยุทธ ทองกองทุน ในตำแหน่งไดเร็คเตอร์คัดเลือกหนัง  ได้ตอบรับในเรื่องนี้ว่า “เท่าที่ผ่านมานั้น  เราอยากให้เทศกาลหนังที่มีบรรยากาศของคนในอุตสาหกรรมโดยตรง  ซึ่งผู้กำกับหนัง ในฐานะคนทำหนังอาจจะมีประสบการณ์โดยตรงในเรี่องนี้  น่าจะทำให้คนไทยสนใจได้มากขึ้น  และช่วยทำเรื่องให้แอดวานซ์ได้มากขึ้น”

ต่อข้อซักถามที่ว่า แล้วจะไปกำกับหนังอีกหรือไม่  คุณยงยุทธตอบว่า ต้องทำแน่  เทศกาลหนังเป็นงานคุณูปการ ส่วนหนึ่ง (contribution – คุณยงยุทธตอบเป็นภาษาอังกฤษค่ะ  แล้วแปลไม่ได้)   ส่วนเรื่องจะจัดเทศกาลอีกต่อไปหรือไม่  ก็เป็นเรื่องของอนาคต

นอกจากสายผู้กำกับแล้ว  ผู้ทำหน้าที่จัดงานในปีนี้  ยังประกอบด้วยรายชื่ออื่น ๆ ดังนี้
นคร วีระประวัติ  ประธานชมรมวิจารณ์บันเทิง  รับผิดชอบในส่วนของการดูแลคณะกรรมการและการตัดสิน
วิทยา ศุภพรโอภาส นักจัดรายการและอดีตโฆษกชื่อดัง  รับผิดชอบในส่วนกิจกรรมต่าง ๆ
สุรศักดิ์  จากสมาพันธ์ รับผิดชอบในส่วนของการสัมมนา

 
เตรียมชมภาพยนตร์ 80 เรื่อง กับ 6 รางวัลจากเทศกาลหนังกรุงเทพเดือนกันยายนนี้   
  อัญชลี ชัยวรพร / 29 กรกฎาคม 2551
   
 

ประกาศตัวอย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อบ่ายวันนี้  เทศกาลหนังกรุงเทพครั้งที่ 6 จะจัดงานขึ้นระหว่างวันที่ 23 – 30 กันยายนนี้  โดยจะมีภาพยนตร์ให้ชม 80 เรื่อง  ล้วนเป็นหนังฟีเจอร์หรือสารคดีทั้งสิ้น 

ยงยุทธ ทองกองทุน ไดเร็คเตอร์เทศกาลกล่าวว่า งบประมาณที่ใช้ในส่วนของโปรแกรมมิ่งมีประมาณ 5 ล้านบาท (น้อยกว่าปีที่แล้วครึ่งหนึ่ง – ผู้เขียน)   ซึ่งรวมทั้งค่าเช่าหนัง  ค่าชิปปิ้ง  แต่ในส่วนทั้งหมดนั้น  ทางคุณจาฤก กัลย์จาฤก นายกสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ  ประธานการจัดเทศกาลจะพยายามหาสปอนเซอร์มา

“ทางคุณจาฤกในฐานะสมาพันธ์ฯ  อยากให้เทศกาลดำเนินต่อไป  เพราะเราเรียกร้องมาตั้งหลายปีแล้วว่า  อยากให้คนในอุตสาหกรรมเป็นคนทำ  เราจึงผนึกกำลังร่วมกันอีกครั้ง”

โดยคุณยงยุทธ ได้กล่าวต่อว่า  ปีนี้จะมีหนังจากทั่วทุกมุมโลก  แต่จะส่วนของการจัดกิจกรรมหรือสายพิเศษต่าง ๆ นั้น  จะเน้นหนังในเอเชียเป็นหลัก  ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่อยู่ทั้งฝั่งซ้ายฝั่งขวาบ้านเรา  อย่างอินโดจีนหรืออาเซียน  เพื่อแสดงให้เห็นพลังของเอเชีย

พิมพกา โตวิระ โปรแกรมเมอร์ของเทศกาลได้เปิดเผยในเรื่องนี้ว่า  หนังที่คัดเลือกมาในปีนี้จะมีความหลากหลาย  ทั้งหนังอาร์ตและหนังที่ดูไม่ยากจนเกินไป  ประเภท audience pleasure  โดยจะมีส่วนหนึ่งที่จะจัดเข้าไว้ในสายประกวด

ส่วนประกวดในปีนี้จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ ได้แก่ สายหลัก หรือ main competition ซึ่งจะคัดเลือกหนังจากทั่วทุกมุมโลก  โดยจะต้องเป็นหนังเรื่องแรกหรือเรื่องที่สองของผู้กำกับเท่านั้น  ซึ่งขณะนี้ก็ได้หนังเรื่อง The Elite Squad โดย Jose Padilha  ผู้ ู้ชนะรางวัลจากเบอร์ลินมาแล้ว  ส่วนสายที่สองจะเป็นหนังอาเซียน 
The Elite Squad โดย Jose Padilha 
 

 

แต่ละสายจะมีหนังประกวดประมาณ 10 – 12 เรื่อง  เพื่อชิงรางวัลสายละ 3 รางวัล ได้แก่ รางวัล Grand Prize, Jury Prize และ Special Mention  มีคณะกรรมการสายละ 3 คน  โดยในสายหลัก  กรรมการทั้งหมดจะเป็นผู้กำกับด้วยกันทั้งสิ้น  ส่วนสายอาเซียนจะเป็นผู้รู้ในแวดวง

สำหรับรายชื่อหนังที่พอจะยกตัวอย่างนั้น  ทั้งคุณยงยุทธกล่าวว่า กำลังอยู่ในช่วงจัดการอยู่  เพราะมีหลายเรื่องตอบรับแล้ว  แต่เนื่องจากว่าในช่วงเดียวกันนี้ก็มีเทศกาลหนังเซบาสเตียน (สเปน)  แวนคูเวอร์ (แคนาดา)  จึงต้องกำหนดตารางให้ตอบรับกันได้

ส่วนพิมพกา กล่าวว่า  ปัญหาส่วนใหญ่เพราะภาพยนตร์บางเรื่องติดสัญญาจะต้องไปปูซานก่อน  ทำให้มาที่นี่ไม่ได้    หรือติดข้อจำกัดจากทางผู้จัดจำหน่ายเอง  เช่น ยังไม่พร้อมที่จะให้้หนังมาเอเชียในปีนี้

“หนังที่อยากได้  อาจจะไม่ใช่หนังใหม่ทั้งหมด  เพราะติดปัญหาหลายอย่าง  แต่ในการจัด  เราจะนึกถึงผู้ชมเป็นหลัก  โดยเฉพาะผู้ชมจากไทย  และปีนี้จะมีหนังส่วนหนึ่งที่มีซับไตเติ้ลภาษาไทยอย่างแน่นอน ”


 

หนึ่งในหนังรางวัลที่ตกปากรับคำว่าจะมาฉายแล้ว ก็คือ Lorna's Silence โดย Jean-Pierre Dardenne และ Luc Dardenne หนังประกวดคานส์ปีนี้

พิมพกากล่าวว่า จะมีหนังที่เป็น international premiere หรือมาฉายในไทยเป็นประเทศแรกอยู่ 2 – 3 เรื่อง

สำหรับพิธีการสำคัญ ๆ ในขณะนี้ได้ประกาศมาแล้วดังนี้
23 กันยายน พิธิเปิด หรือ Opening Reception
26 กันยายน Red Carpet และกาล่าดินเนอร์
28 กันยายน ประกาศรางวัลกินรี
30 กันยายน พิธีปิด 

 
เทศกาลหนังกรุงเทพ กำหนดวันแล้ว
  17 มิถุนายน 2551
   
 

ขอโทษค่ะที่แจ้งช้า  ความจริงได้รับข่าวมาตั้งแต่วันศุกร์แล้ว  พร้อมประกาศหาคนทำงาน  แต่เข้าใจผิดคิดว่า ให้ปิดข่าวไว้ก่อน  ก็เลยเพิ่งมาลงวันนี้

เทศกาลหนังกรุงเทพ กำหนดวันแล้ว คือ วันที่ 23 - 30 กันยายน เป็นเวลา 8 วัน  เพื่อให้สอดคล้องกับ งานตลาดหนัง  ซึ่งปีนี้ใช้ชื่อว่า Thailand Entertainement Expo ตรงกับวันที่ 24 - 28 กันยายน เป็นเวลาึถึง 5 วัน โดยจัดขึ้นที่สยามพารากอน

สำหรับตลาดหนังในปีนี้อยู่ในความรับผิดชอบของกรมส่งเสริมการส่งออก  โดยจะครอบคลุมงานด้านบันเทิงทั้งหมด ได้แก่ หนัง ดนตรี แอนิเมชั่น โทรทัศน์ บริการห้องแล็บ เคเบิ้ล สถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ โอ้ แถมมีซอฟท์แวร์อีก มิใช่เพียงขายหนังอย่างเดียวเท่านั้น  

เทศกาลหนังกรุงเทพจะจัดขึ้นในระยะเวลาที่ใกล้กับเทศกาลหนังสำคัญ ๆ  กล่าวคือ เทศกาลหนังปูซาน ในวันที่ 2 - 9 ตุลาคม  และเทศกาลหนังโตเกียว ระหว่างวันที่ 18 - 26 ตุลาคม  ซึ่งมีตลาดหนังทั้งสองเทศกาล  เพราะฉะนั้น ผู้จัดทางไทยอาจจะต้องทำงานอย่างหนักที่จะดึงความสนใจจากผู้คนให้มาร่วมเทศกาลอยู่ไม่น้อย  

ทางกรมส่งเสริมการส่งออก ได้ไปตั้งบูธแนะนำที่เมืองคานส์  แต่ยังมิได้มีการประชาสัมพันธ์ใด ๆ และไม่ได้อัพเดทข้อมูลแม้กระทั่งเว็บไซต์ของทางกรมส่งเสริมการส่งออกเอง

 
เทศกาลหนังกรุงเทพย้ายจริง สมาคมผู้กำกับเป็นโตโผใหญ่
  6 พฤษภาคม 2551
   
 

เทศกาลหนังกรุงเทพ 2551 แถลงการณ์อย่างเป็นทางการแล้ว  โดยเทศกาลได้เลื่อนไปเดือนกันยายน   ยังไม่กำหนดวันอย่างแน่นอน

ในปีนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จะทำหน้าที่เป็นสปอนเซอร์  แต่งานจะให้ สมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินการจัดงาน  โดยที่ คุณจารึก กัลยจารึก จะดำรงตำแหน่ง festivaldirector  

ส่วนงานควบคุมทางด้านศิลปะของงานจะอยู่ภายใต้บังเหียนของ ยงยุทธ ทองกองทุน ผู้นำคนใหม่ของสมาคมผู้กำกับ  โดยได้มอบหมายให้ พิมพกา โตวิระ และ เมย์ เมฆสวรรค์ เป็นฝ่ายโปรแกรม  มีหน้าที่คัดเลือกหนัง  ควบคุมการวางโปรแกรม   จัดฉายหนัง  

พิมพกา โตวิระ เคยทำหน้าที่คัดเลือกหนังให้เป็นเทศกาลหนังกรุงเทพเมื่อปี 2544  ภายใต้การดำเนินงานของเดอะเนชั่น  ส่วนเมย์ เมฆสวรรค์ เคยทำงานในส่วนโปรแกรมและจัดฉายหนังให้กับเทศกาลหนังกรุงเทพ ภายใต้การดำเนินการของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เมื่อปี 2547 - 2549

เทศกาลวางเป้าหมายไว้ว่าจะฉายหนังประมาณ 100 เรื่อง  มีสายแข่งขัน 3 สาย และสายโชว์อื่น ๆ  โดยจะมีกิจกรรมอื่น ๆ ประกอบเหมือนเช่นเดิม

   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.