เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า เทศกาลหนังกรุงเทพครั้งที่ 5 ซึ่งจะจัดขึ้นในปีหน้า ระหว่างวันที่ 2 6 มกราคม 5 กุมภาพันธ์นี้ จะดำเนินการโดยคนไทยทั้งหมด
ก่อนหน้านี้ มีฝรั่งหลายคนได้เสนอตัวเข้ามาขอทำงานกับ ททท. จริง ๆ บางคนนั้นเห็นชื่อแล้วได้แต่ร้องยี้คำเดียว พร้อมเตรียมบินหนีจากเมืองไทยในช่วงจัดเทศกาลแล้ว เผอิญทีมเทศกาลชุดใหม่เขามีวิสัยทัศน์ ก็เลยไม่ได้จ้างฝรั่งเหล่านั้น
โดยผู้ที่จะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ หรือไดเร็คเตอร์ของเทศกาล ก็มิใช่ใครอื่นไกล คือ เกรียงศักดิ์ ศิลากอง ผู้ดูแลเทศกาลหนัง World Film of Bangkok มากว่า 4 ปีแล้ว และผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นโปรแกรมเมอร์คัดเลือกหนังให้คนไทยดู ก็เป็นเลือดเนื้อเชื้อสายไทย ได้แก่ วิทวัส เมฆสวรรค์ และ ชลิดา เอื้อบำรุงจิตต์ จากมูลนิธิหนังไทย
บุคคลทั้งสามต่างก็เคยร่วมงานกับเทศกาลหนังกรุงเทพมาก่อนทั้งสิ้น โดยเกรียงศักดิ์ เข้าร่วมจัดเทศกาลหนังกรุงเทพในปีแรก ในฐานะตัวแทนจากค่ายเดอะเนชั่น ก่อนที่จะพบปัญหามากมายและตัดสินใจแยกไปจัดเทศกาลของตนเองหลังจากนั้น จนกลายเป็นเทศกาลหนังเล็ก ๆ ที่เริ่มมีความสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนสองคนหลังนั้นทำงานกับทางเทศกาลมาตลอด แต่ไม่มีสิทธิ์มีเสียงมากนัก ต้องทำงานภายใต้การตัดสินใจของฝ่ายอเมริกันทั้งหมด
ถ้าฝรั่งจัดดีได้เหมือนคานส์ เบอร์ลิน เวนิซ หรือปูซาน ก็จะไม่ว่าอะไรเลย แต่เท่าที่ไปรู้มา หนังบางสายก่อนหน้านี้ เช่น สายอาเซียนก็เป็นคนไทยนี้แหล่ะที่คัดเลือกรอบแรก แต่ให้ฝรั่งตัดสินใจ เป็นอะไรที่สวนกระแสวัฒนธรรมโลก เพราะเทศกาลอื่นเขาจะให้ทีมงานต่างชาติช่วยเลือกรอบแรก แต่เจ้าของถิ่นจะเป็นผู้ที่เซย์เยสเอง
สำหรับการจัดงานในปีหน้านี้ เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ตำนานสมเด็จพระนเรศวร จะเป็นหนังเปิดในวันที่ 26 มกราคม 2550 โดยจะฉายทั้งภาค 1 และ ภาค 2
ทางเทศกาลจะเน้นหนังอาเซียนให้เป็นหนังสายหลักของการประกวด ที่ชื่อว่า ASEAN Competition โดยก่อนหน้านี้หนังในสายนี้เป็นเพียงสายประกวดที่ตัดสินโดยนักวิจารณ์ จากสมาพันธ์นักวิจารณ์นานาชาติ (fipresci)
นายเคลาส์ เอเดอร์ เลขาธิการประจำสมาพันธ์นักวิจารณ์นานาชาติ ก็ได้ตอบตกลงที่จะส่งตัวแทนเข้าเป็นกรรมการตัดสินเหมือนเดิม ว่าไปแล้ว การประกวดหนังสายอาเซียนที่ทางทีมอเมริกันเป็นผู้จัดนี้ ก็เกิดจากการเสนอแนะจากนายเคลาส์ เอเดอร์ทั้งสิ้น ไม่ได้เกิดจากคุณเจนนิเฟอร์ โปรแกรมเมอร์ฝรั่งคนเดิมเลย
ส่วนหนังสายนานาชาตินั้น คงเหลือแค่การประกวดหนังเรื่องแรก ๆ ของผู้กำกับ ที่เรียกว่า First Film Competition เท่านั้น
สำหรับหนังไทยนั้น จะอยู่ในสาย Panorama เหมือนเดิม และสายรีโทรสเป็คทีฟนั้น จะมีสองสาย สายแรกได้แก่ผลงานของเชิด ทรงศรี ส่วนอีกสายหนึ่งคือ ผลงานของหลุยส์ บุนนีเอล ผู้กำกับหนังทดลองรุ่นแรก ๆ ของโลก และยังคงทันสมัยอยู่เหมือนเดิม
และนี่สำคัญ คือ กาลครั้งนี้จะมีผลงานส่วนหนึ่งที่มีซับไตเติ้ล เพราะเวลาที่ค่อนข้างจำกัดครั้งนี้ จะให้หนังมีซับไตเติ้ลทั้งหมดคงค่อนข้างยาก
ส่วนในสายตลาดค้าหนังนั้น ซึ่งจัดขึ้นเป็นเวลา 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2 กุมภาพันธ์นั้น ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะยังคงเดิมไว้หรือไม่ เนื่องจากเวลาที่ค่อนข้างจำกัด และในช่วงเดียวกันนี้ ก็มีสองเทศกาลหนังสำคัญของโลกที่มีตลาดค้าหนังเหมือนกัน ได้แก่เทศกาลหนังร็อตเตอร์ดัม (21 มกราคม 1 กุมภาพันธ์) และเทศกาลหนังเบอร์ลิน (8 18 กุมภาพันธ์) ขณะนี้ นายกิติพงศ์ ประพัฒน์ทอง จาก ททท. จะเป็นผู้ดูแล
ดูตามรูปการแล้ว ทุกอย่างเป็นไปตามเทศกาลหนังที่ควรจะเป็น แต่ในระยะเวลาที่เหลือเพียง 40 วัน จะทำให้งานสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซนต์ คงจะเป็นเรื่องยาก อย่างไรก็ตาม ดิฉันก็ขอให้กำลังใจกับเทศกาลหนังเมดอินไทยแลนด์ฉบับนี้จริง ๆ ค่ะ
|